ผ่าแนวคิด ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ‘รัฐวิสาหกิจ’ กับบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

"รัฐวิสาหกิจ: กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้มหาศาล พร้อมก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน" รัฐวิสาหกิจไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยทรัพย์สินรวมกว่า 6 ล้านล้านบาท รายได้ส่งเข้ารัฐปีละกว่า 200,000 ล้านบาท พร้อมนโยบายยกระดับการบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
KEY
POINTS
- รัฐวิสาหกิจถือเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีเม็ดเงินลงทุนปีละหลายแสนล้านบาท ส่งรายได้เข้ารัฐบาลปีละกว่า 200,000 ล้านบาท (ปี 2566)
- รัฐวิสาหกิจมีขนาดทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของงบประมาณรายได้ประเทศ
- รัฐวิสาหกิจมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่ง (รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน), พลังงาน, สาธารณูปโภค, และการส่งเสริมการท่องเที่ยว (Aviation Hub) การเชื่อมโยงตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
- รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังกล่าวว่าการพัฒนารัฐวิสาหกิจจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศได้มาก จึงขอให้ สคร.ปรับเกณฑ์ประเมินใหม่ให้เน้นบทบาทเรื่องนี้
“รัฐวิสาหกิจ” ถือว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งในแง่ของการลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนปีละนับแสนล้านบาท
ในปี 2568 รัฐวิสาหกิจมีงบลงทุนรวมกว่า 2.6 แสนล้านบาท และตั้งเป้าเบิกจ่ายกว่า 95%
ส่วนการส่งรายได้เข้ารัฐบาล โดยข้อมูลของกระทรวงการคลัง ณ ปี 2566 รัฐวิสาหกิจส่งรายได้เข้ารัฐบาลรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในเม็ดเงินสำคัญที่รัฐบาลนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เมื่อเร็วๆนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เป็นประธานในการมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567 โดยมีรัฐวิสาหกิจที่ได้รับรางวัล 15 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 51 แห่ง โดยในงานดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้มีการให้นโยบายแก่ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนการบริหารงานเพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น
นายพิชัย ระบุว่ารัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล ผลสำเร็จนโยบายของรัฐวิสาหกิจจึงมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยขนาดของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกัน 6 ล้านล้านบาท นับเป็นสองเท่าของงบประมาณรายได้ของประเทศที่จัดเก็บได้ในแต่ละปี
"ถ้าจะพูดภาษาทางการเงินคือสมบัติรัฐวิสาหกิจ 6 ล้านล้านบาท ใช้แหล่งเงินกู้ 4.6 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของรัฐบาลเป็นของประชาชนคนไทย 1.4 ล้านล้านบาท จึงมีคุณค่ายิ่ง คุณค่า ของรัฐวิสาหกิจไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว เกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างประเทศ หลายหน่วยงานอายุเกือบร้อยปี ใช้งบประมาณสร้างมา จึงมีความสำคัญอย่างมาก”
ซึ่งการที่รัฐวิสาหกิจมีเงินนำส่งให้รัฐบาลปีละ 200,000 ล้านบาท เท่ากับว่ามีผลประกอบการใกล้ๆ 500,000 ล้านบาท หากรัฐวิสาหกิจสามารถเดินในทิศทางเดียวกันก็จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างดี แต่สิ่งที่พูดต้องใช้เวลา ไม่ได้ทำได้ในปีเดียว และแนวทางนี้ต้องมีการพัฒนาทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในอนาคต
นอกจากนี้บทบาทของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ก็เป็นการบริหารเรื่องสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่งทางน้ำ อากาศ โลจิกติกส์ พลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน และสาธารณูปโภค ล้วนอยู่ในมือของรัฐวิสาหกิจ เช่น การขนส่งทางรางผ่านรถไฟความเร็วสูงจากไทย-จีน 2,000 กม.ที่จะเสร็จในปี 2571 หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation hub) เป็นบทบาทของรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น
“เมื่อมีสินค้าผ่านประเทศไทย มีการแลกเปลี่ยนสินค้า ก็จะมีตลาดการเงินที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นเป็นศูนย์กลางอีกแห่งในภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้ตลาดเงินมากกว่าครึ่งดูแลโดยภาคเอกชนคือธนาคารพาณิชย์ เงินที่จะเติมเข้าระบบก็อยู่ในมือของธนาคารพาณิชย์ที่กำกับโดยธนาคารแห่งประเทสไทย ส่วนที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง อยู่ในการกำกับดูแลภาครัฐ ไม่ว่า ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่วนอีกด้านเมื่อ เชื่อมโยงหาตลาดเงินไม่ได้ก็วิ่งไปตลาดทุน แต่ที่สำคัญวันนี้ทั้ง 2ตลาดเชื่อมเข้าหากัน ทำงานควบคู่กันไป”นายพิชัย กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่าเพื่อบรรลุเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน ทางสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ(สคร.)และคณะกรรมการประเมินรัฐวิสาหกิจ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีประเมินผล ให้รัฐวิสาหกิจต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การรับมือกับสภาวะโลกร้อน การพึ่งพาเศรษฐกิจสีเขียว การกักเก็บคาร์บอน
นายพิชัยกล่าวถึงแนวนโยบายในเรื่องนี้ว่าอยากให้ สคร.ทำงานร่วมกับคณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เพื่อวางยุทธศาสตร์ของแต่ละแห่งว่าจะไปในทิศทางไหนในอีก 10-20-30 ปีข้างหน้า ต้องมองว่าจะเปลี่ยนไปในทางไหน ต้องเปลี่ยนทั้งเงินและคน
ก่อนที่จะเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ก็ต้องผ่านการเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดเล็กมาก่อน ในการทำงานหากยังเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก ก็ขอให้มองรัฐวิสาหกิจข้างๆมาทำงานร่วมกัน และรัฐวิสาหกิจแห่งใดที่ยังไม่ได้อยู่ในตลาดทุน ก็ต้องรู้ว่าสามารถเข้าตลาดทุนเพื่อระดมทุนได้และยังมีตลาดดิจิทัลได้ เงินรออยู่ข้างหน้า ที่จะทำให้ขับเคลื่อนไปตามเป้าหมายได้