นโยบายเศรษฐกิจ ที่จะช่วยคนส่วนใหญ่ได้จริง

การเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารต่างชาติ เน้นส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศและทุนขนาดใหญ่ (รวมทั้งเกษตรรายใหญ่ เกษตรเพื่อการส่งออก เกษตรพันธสัญญากับบริษัทใหญ่)
ป็นการเติบโตแค่ตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ความมั่งคั่งอยู่ในมือคนส่วนน้อย ไม่กระจายไปสู่คนส่วนใหญ่
โครงการช่วยเหลือคนจนล้วนเป็นโครงการแบบประชานิยมหาเสียงและกระตุ้นการฟื้นตัว/การเติบโตของเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ไม่ได้ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น พัฒนาคน กระจายทรัพย์สินและรายได้ให้เป็นธรรมอย่างแท้จริง
ประชาชนส่วนใหญ่กลับเป็นหนี้เพิ่มขึ้น พึ่งพานายทุน นายธนาคารระบบตลาดแบบเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพิ่มขึ้น
ปัญหาหลักคือ ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นแบบกึ่งผูกขาด ไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ขาดความสมดุล ขาดประสิทธิภาพ (ในการผลิต) มองในแง่ภาพรวม แม้ธุรกิจส่งออกบางอย่างจะเติบโตได้ แต่ทั้งระบบมีผลิตภาพ (หรือประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ) การเน้นการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่
ทำให้ประชาชนถูกเอาเปรียบและถูกทำให้ยากจนเพิ่มขึ้น ประชาชนขาดความรู้เท่าทัน หวังพึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งๆ ที่ประชาชนได้ประโยชน์เล็กน้อยแค่ระยะสั้น แต่เสียเปรียบมากกว่าในระยะยาว เช่นเป็นหนี้มากขึ้น ค้นทุน ค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ ฯลฯ
นโยบายพัฒนาระบบเศรษฐกิจในแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาด พึ่งพาการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศมาก พึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศรวมทั้งตลาดภายในประเทศน้อย ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาอย่างน้อย 3 ข้อ คือ
1. การกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ ฐานะและอำนาจต่อรองทางสังคมไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น
คนรวยส่วนน้อยที่มีทุนมากกว่าได้เปรียบคนจนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ต่ำขาดอำนาจซื้อ ขาดความสามารถที่จะพัฒนาตนเอง ตลาดภายในและเศรษฐกิจภายในประเทศจึงมีขนาดเล็ก ทั้งๆ ที่ไทยมีประชากร 67 ล้านคน (เป็นประเทศขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ พอๆ กับฝรั่งเศส อังกฤษ)
ทั้งยังสร้างปัญหาความขัดแย้งและความตกต่ำทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมตามมามากมาย
2. การทำลายธรรรมชาติสภาพแวดล้อมให้เสื่อมโทรมในอัตราสูง เกิดมลภาวะ รวมทั้งปัญหาโลกร้อน เกิดภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ ดินเสื่อม น้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ การเกษตรมีผลผลิตลดลง/ต้นทุนสูงขึ้น ประชาชนเสียชีวิต เจ็บป่วยจากสารเคมีและมลพิษอื่นๆ เพิ่มขึ้น
3. การทำลายสถาบันทางสังคม วัฒนธรรมแบบชุมชนเกษตรดั้งเดิมที่คนไทยเคยมีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดถึงประโยชน์ชุมชน เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมและค่านิยมแบบทุนนิยมสุดโต่ง ที่เน้นการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น สังคมมีปัญหาอาชญากรรม ฉ้อโกง เอาเปรียบ ความเครียด โรคจิตประสาท ฯลฯ เพิ่มขึ้น
นโยบายที่จะพัฒนาเพื่อคนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง คือต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตรและกิจการขนาดย่อม ปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ ปฏิรูประบบสหกรณ์ ฯลฯ เพื่อทำให้ประชาชนเข้มแข็งช่วยตัวเองได้อย่างแท้จริง
ระบบเศรษฐกิจที่จะเอื้อประโยชน์คนส่วนใหญ่ได้อย่างยั่งยืน คือระบบเศรษฐกิจแบบผสม ระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม กับระบบสหกรณ์และสังคมนิยมแบบประชาธิปโตย
ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ควรรวมทั้งการมีระบบการประกันสังคม รัฐสวัสดิการ ชุมชนสวัสดิการที่ดี การพึ่งเศรษฐกิจและตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น (ลดสัดส่วนการพึ่งพาการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น) และเน้นเรื่องการกระจายทรัพย์สิน รายได้ บริการทางสังคมอย่างเป็นธรรมเพิ่มขึ้น
แนวทางที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ คือ
1. ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณ ปฏิรูประบบประกันสังคมและรัฐสวัสดิการ ฯลฯ เพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้สู่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงเป็นธรรมเพิ่มขึ้น
ปฏิรูปกฎหมายสหกรณ์ให้เป็นอิสระจากระบบราชการ และสามารถทำธุรกิจได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น พัฒนาระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค (ประชาชนร่วมกันถือหุ้นเป็นเจ้าของฟาร์ม โรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า ธุรกิจต่างๆ ร่วมกันและแบ่งผลกำไรคืนให้สมาชิก) สหกรณ์ออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ ให้แข่งขันกับธุรกิจสมัยใหม่ได้
โดยรัฐบาลให้ความสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน เงินกู้ ความรู้ด้านบริหารจัดการ การลดหย่อนภาษีให้ ภาครัฐเลือกซื้อของจากสหกรณ์ก่อนไปซื้อจากธุรกิจเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ระบบสหกรณ์และหรือองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกัน
เช่น บริษัทมหาชนที่พนักงานและประชาชนถือหุ้นเป็นสัดส่วนสูง วิสาหกิจชุมชน บริษัทที่ไม่มุ่งค้ากำไร ฯลฯ เจริญก้าวหน้าได้มากพอที่จะบริหารแบบธุรกิจเอกชนสมัยใหม่ แข่งขันกับทุบทุนข้ามชาติและธุรกิจเอกชนแบบกึ่งผูกขาดได้
2. การสร้างระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขัน และระบบสหกรณ์ที่เน้นปฏิรูปการกระจายทรัพย์สินรายได้ ความรู้ การมีงานทำ ให้คนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง เป็นธรรม
เพื่อทำให้คนจำนวนมากมีรายได้และมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น เมื่อคนซื้อผลผลิตและบริการได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวได้มากขึ้น และเศรษฐกิจไทยสามารถลดการพึ่งพาแต่การส่งออกลงได้
3. ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหาร น้ำ พลังงาน และปัจจัยจำเป็นอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการย่อยและสหกรณ์ผู้ผลิตหรือวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง แข่งขันกับโรงงาน ฟาร์มขนาดใหญ่ ธนาคารใหญ่ ฯลฯ ได้
กระจายอำนาจการบริหารและงบประมาณให้จังหวัดจัดการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการทางสังคมเองได้เพิ่มขึ้น พัฒนาเกษตรทางเลือก สาธารณสุขทางเลือก พลังงานทางเลือก ที่ใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ตามแนวทางที่กล่าวมาจะก่อให้เกิดผลดีแบบทวีคูณ คือ ทั้งยกระดับความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจให้ประชาชนได้อย่างเป็นธรรมและเน้นคุณภาพชีวิต ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาทั้งทางการเมืองและสังคมหลายอย่างของทั้งประเทศได้ในขณะเดียวกัน.