กระจกเงาการค้าไทย: เกินดุลสหรัฐขาดดุลจีน เสี่ยงถูกมองเป็นฐานเลี่ยงภาษี

ไทยเผชิญปรากฏการณ์ 'กระจกเงา' จากการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ-ขาดดุลกับจีน ส่งผลให้สหรัฐจับตามองว่าอาจเป็นฐานหลบเลี่ยงภาษีของจีน ทำให้ไทยต้องเร่งเพิ่มมูลค่าการผลิตในประเทศและกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่น
KEY
POINTS
- ไทยเสี่ยงถูกสหรัฐมองเป็นฐานเลี่ยงภาษีจีน หลังเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2024
- เกิดปรากฏการณ์ "กระจกเงา" - ไทยเกินดุลสหรัฐแต่ขาดดุลจีน โดยสินค้านำเข้าจากจีนและส่งออกไปสหรัฐเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น อิเล็กทรอนิกส์
- กรณีศึกษาอุตสาหกรรมโซลาร์ - ถูกสหรัฐเก็บภาษีเพิ่มหลังพบปริมาณนำเข้าจากจีนใกล้เคียงกับส่งออกไปสหรัฐ ทำให้ส่งออกลด 34%
- ทางออก - ไทยต้องเพิ่มมูลค่าในประเทศ ลดพึ่งพาวัตถุดิบจีน กระจายความเสี่ยงสู่ตลาดอื่น และพัฒนาระบบพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า
ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐและจีนที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐจับตามองในฐานะประเทศที่อาจถูกใช้เป็น "ฐานการผลิต" เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐใช้กับจีน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐในระดับสูง
ข้อมูลจาก United States Census Bureau ระบุว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2024 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ สูงถึง 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์ จัดอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐซึ่งขยับขึ้นจากเดิมอันดับที่ 12 แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับจีนที่เกินดุล 2.704 แสนล้านดอลลาร์ หรือเวียดนามที่เกินดุล 1.131 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ
รูปแบบการค้าของไทยและอาเซียนกับสหรัฐและจีนมีลักษณะที่น่าสนใจ จากข้อมูลของศูนย์วิจัย CEIC พบว่ามีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ในขณะที่ขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมีนัยสำคัญ ลักษณะการค้าแบบกระจกเงา (Mirror Image) นี้อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าไทยและประเทศในอาเซียนกำลังถูกใช้เป็นฐานการผลิตของจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่จีนเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ อย่างหนัก
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สินค้าที่จีนส่งมาไทยมากที่สุด ประกอบด้วย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความสอดคล้องกับสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ เช่น ไทยส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไปสหรัฐ 42.9% โทรศัพท์และส่วนประกอบ 58.5% และเซมิคอนดักเตอร์ 67.0% นอกจากนี้ยังรวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าในกลุ่มพลังงานทดแทนอย่างแผงโซลาร์เซลล์
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า ภายใต้สินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐพบว่า กลุ่มที่เสี่ยงที่สุดประกอบด้วย, โมดูลบลูทูธ, ผลิตภัณฑ์บรอดแบนด์, รถยนต์, แผงโซลาร์, อะแดปเตอร์ไฟฟ้า, เครื่องจักรและส่วนประกอบ, ชิ้นส่วนยานยนต์ (ล้อ, เบรก, พวงมาลัย), โมดูลกล้องมือถือ, เครื่องปรับอากาศ ในขณะที่สินค้าสามประการที่อาจไม่ได้อยู่ในลิสต์จับตาของสหรัฐคือ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เพราะเป็นเทคโนโลยีเก่า ยางเพราะสหรัฐไม่สามารถปลูกยางแข่งกับประเทศไทยได้ รวมทั้งเครื่องประดับ เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อสังเกตสำคัญคือแม้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยจะหดตัวต่อเนื่อง แต่การส่งออกในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปสหรัฐ ยังคงมีมูลค่าสูง ตรงนี้นักวิชาการส่วนหนึ่งจึงมองว่าอาจเป็นภาพสะท้อนว่าจีนใช้ไทยเป็นทางผ่านในการหลบเลี่ยงภาษีและส่งสินค้าไปสหรัฐ
กรณีของอุตสาหกรรมโซลาร์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผลกระทบที่เกิดขึ้นเนื่องจาก KKP Research ระบุว่า ปริมาณการนาเข้าแผงโซล่าจากจีนสะสมต้องแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 มีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐ ดังนั้นจึงถูกสหรัฐมองว่าไทยเป็นฐานการผลิตของจีน ประกอบกับข้อมูลจาก Trade Map และ BloombergNEF แสดงให้เห็นว่าหลังจากไทยถูกสหรัฐ เก็บภาษีเพิ่มเติมจากสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม (Circumvention) หลังจากนั้นการส่งออกแผงโซลาร์ไปสหรัฐ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 34% จากนั้นบริษัทจีนจึงได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซียและลาว ซึ่งส่งผลให้กำลังการผลิตในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สหรัฐภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ใช้มาตรการหลากหลายรูปแบบเพื่อจัดการกับปัญหานี้ ทั้งการขึ้นภาษีนำเข้าทั่วไป การใช้มาตรการ Anti-dumping หรือ Countervailing Duty (AD/CVD) กับสินค้าเฉพาะ และการตรวจสอบ รวมทั้งการเก็บภาษี Circumvention นอกจากนี้ยังมีการเจรจาการค้าทวิภาคีเพื่อกดดันให้ประเทศคู่ค้าลดการเกินดุลและเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐมากขึ้น รวมถึงการเข้มงวดในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าและมูลค่าเพิ่มในประเทศ
KKP Research วิเคราะห์ว่าสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อไทยในหลายมิติ ทั้งในแง่การลงทุนจากจีนที่อาจชะลอตัวหรือย้ายฐานไปประเทศอื่น ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นจากการต้องพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า และความเสี่ยงที่จะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะในสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับจีน นอกจากนี้ไทยยังต้องเผชิญความท้าทายในการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้ากับทั้งสองประเทศมหาอำนาจ
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย
การปรับตัวของไทยในระยะต่อไปจำเป็นต้องดำเนินการในหลายระดับโดยควรเริ่มจากการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มในประเทศและลดการพึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากจีน การกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นและสร้างความหลากหลายในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศ นอกจากนี้ไทยต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจากับสหรัฐ พัฒนา "ระบบการพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า" และสร้างความเข้าใจกับภาคธุรกิจเกี่ยวกับกฎระเบียบการค้าใหม่
ในระยะยาว ไทยจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศให้สูงขึ้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมมูลค่าสูงก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่การผลิตและการพัฒนาระบบการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐว่าไทยไม่ได้เป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการทางการค้าแต่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศอย่างแท้จริง
การเจรจาความตกลงทางการค้าทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีควรคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ โดยเฉพาะการรักษาสมดุลระหว่างการเปิดเสรีทางการค้าและการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่หลากหลายเพื่อลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป
ท้ายที่สุด การจัดการกับความท้าทายนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศมหาอำนาจ เพื่อให้ไทยสามารถรักษาและพัฒนาบทบาทในห่วงโซ่มูลค่าโลกได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ถูกมองว่าเป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการทางการค้าของประเทศใดประเทศหนึ่งและที่สำคัญในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรไปเยือนจีนเพื่อพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หลายสายตาต่างก็จับจ้องไปว่า ประเด็นที่ประเทศไทยขาดดุลกับจีนจะอยู่บนโต๊ะเจรจาหรือไม่