โจทย์ 'ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3' สร้างเงื่อนไขเงินหมื่น 100% เข้าระบบ

โจทย์ใหญ่โครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3" ต้องสร้างเงื่อนไขและกลไกดันเงิน 10,000 บาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้ 100%
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเติมเม็ดเงินขนาดใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบภายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568
ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าการดำเนินโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ครั้งนี้จะต้องมีการใช้จ่ายผ่านดิจิทัลวอเล็ต เพื่อปิดช่องโหว่ของการแจกเงินสด ในการดำเนินโครงการครั้งที่ผ่าน
โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายในระดับอำเภอเพื่อให้เม็ดเงินลงไปสู่หน่วยเล็กที่สุด และเกิดการหมุนเวียนในระบบ รวมทั้งมีการเสนอให้ปรับลดเงื่อนไขบางอย่างจากเดิมให้การใช้จ่ายง่ายขึ้นสำหรับประชาชนที่นำมาเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อเดินหน้าธุรกิจและครัวเรือนได้สะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ เงื่อนไขที่เปลี่ยนไปจะเป็นอย่างไร ยังต้องรอติดตามข้อสรุปที่ชัดเจนหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในสิ้นเดือนก.พ. นี้
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 หรือ เงินหมื่นเฟส 1 จากการประมวลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ได้รับเงินสูง คือ จังหวัดยากจน มี GPP per Capita หรือผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวต่ำ โดยภูมิภาคที่รับเงินมากอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทำให้ภูมิภาคเหล่านี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุด
นอกจากนี้ ลักษณะของการกระจายเม็ดเงินมีความทั่วถึงทุกพื้นที่ ครอบคลุมครบทุกตำบลทั่วประเทศไทย กล่าวคือ ไม่มีตำบลใดเลยที่ไม่ได้รับเงิน
โดยเมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน พบว่า 68% นำเงินไปใช้จ่ายในร้านค้าชุมชน ร้านขายของชำ ร้านหาบเร่แผงลอยทั่วไป และร้านค้าในตลาด
30% นำไปใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อและ Modern Trade
และที่เหลืออีก 2% ใช้จ่ายในร้านอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าการเกษตร ร้านออนไลน์
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ส่วนใหญ่ใช้เงินหมดใน 3 เดือน โดยกว่า 82% จะใช้จ่ายเงินหมดภายใน 3 เดือน ขณะที่ 21% ใช้เงินหมดภายใน 1 เดือน และ 61% ใช้หมดใน 1-3 เดือน
ทั้งนี้้ ผลการดำเนินโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ยังสะท้อนจากตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 56.9 ในไตรมาสที่ 4 สูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3 ที่ระดับ 56.5 ดัชนีความเชื่อมั่น MSMEs ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 53.0 ในไตรมาสที่ 4 จากระดับ 49.6 ในไตรมาสที่ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค การท่องเที่ยว การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (หักนำเข้า หักเงินเฟ้อ) และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น โดยตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะเดือน ต.ค. ที่เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเต็มเดือน
ขณะที่ การศึกษา ดัชนี GINI (ซึ่งใช้วัดความเหลื่อมล้ำ หากลดลงแปลว่ามีความเท่าเทียมเพิ่มขึ้น) ของกระทรวงการคลังพบว่า พบว่าช่วยลดระดับดัชนี GINI ได้ 0.01 จุด ทั้งดัชนี GINI ด้านรายได้ และดัชนี GINI ด้านรายจ่าย กล่าวคือ ลดระดับความเหลื่อมล้ำลงได้ และหากเปรียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการนี้ การที่ดัชนี GINI ลดลงได้ 0.01 จุดดังกล่าว มักใช้เวลานานถึง 3 ปี อ้างอิงตามแนวโน้มการพัฒนาการเศรษฐกิจในอดีต กล่าวคือ โครงการนี้ร่นระยะเวลาลดความเหลื่อมล้ำประเทศเร็วขึ้น 3 ปี