'ส.อ.ท.' แนะ 'ก.ล.ต.' ตั้งคณะทำงานร่วมออก UtilityToken เสริมภูมิ SME

'ส.อ.ท.' แนะ 'ก.ล.ต.' ตั้งคณะทำงานร่วมออก UtilityToken เสริมภูมิ SME

“ส.อ.ท.” ย้ำการออก “Utility Token” ของ “ก.ล.ต.” เพื่อระดมทุนคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องดี "เอกชน" มีโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ดีอยู่แล้ว ควรตั้งคณะทำงานร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะให้ SME ปรับตัว เพื่อความคุ้มค่าในอนาคต

KEY

POINTS

  • การที่ ก.ล.ต. ได้อนุญาตให้เกิดการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ Investment Token เป็นการออกเหรียญไปลงทุน แทนการออกหุ้น มีเงื่อนไขน้อยกว่า Initial Coin Offering 
  • Carbon Credit Token ยังติดที่กฎหมายยังไม่อนุญาต Digital Asset Exchange โดยเฉพาะความซับซ้อนการซื้อขายเชิงเทคนิค ก.ล.ต. ควรให้ความรู้เอกชนก่อน
  • ก.ล.ต. ควรหารือกับทุกภาคส่วน และตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงความซับซ้อน โดยเฉพาะ SME ในเงื่อนไขขั้นตอนระบบรองรับการซื้อขาย
  • หวังว่าภาครัฐจะหารือกับภาคเอกชนที่มีส่วนในการดำเนินธุรกิจโดยตรงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายความยั่งยืนไปด้วยกัน

การพัฒนาตลาดทุนยั่งยืน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียน

ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2065

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวทางการส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ เพื่อสนับสนุนตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยเติบโตมากขึ้น และทำให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในวงกว้างมากขึ้น

โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแล Utility Token พร้อมใช้ ส่งผลให้การให้บริการซื้อขายโทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือเป็นการรับรองหรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ (Consumption-Based Utility token)

รวมถึงโทเคนดิจิทัลที่นำไปใช้แลกเป็นคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานและพร้อมที่จะนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Tokenized Carbon Credit) สามารถทำได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ รองประธานคณะ BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สปอ.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่ ก.ล.ต. จะออกโทเคนเพื่อให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น

ถือเป็นการที่ ก.ล.ต. ได้อนุญาตให้เกิดการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ หรือ Investment Token เป็นการออกเหรียญไปลงทุน แทนการออกหุ้น ซึ่งมีเงื่อนไขน้อยกว่า (Initial Coin Offering) โดยภาคเอกชนเองได้มีวิธีการระดมทุนพัฒนาโครงการ ทำให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นช่องทางระดมทุนไปทำโครงการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เอกชนมองถึง Utility Token ว่าควรจะมีความพร้อมใช้ Carbon Credit Token แต่ยังติดที่กฎหมายยังไม่อนุญาต Digital Asset Exchange ดังนั้น เมื่อกฎหมายยังไม่รองรับ โดยเฉพาะความซับซ้อนในการซื้อขายเชิงเทคนิค จึงขอให้ ก.ล.ต. ให้ความรู้ภาคเอกชนก่อน 

“ภาคเอกชนมองว่า ก.ล.ต. เองควรหารือกับทุกภาคส่วน และตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงความซับซ้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในเงื่อนไขขั้นตอนระบบรองรับการซื้อขายต่าง ๆ อีกทั้ง เอกชนยังกังวลถึงความคุ้มค่าในอนาคต โดยเฉพาะ Utility Token ด้วย” ดร.สวนิตย์ กล่าว

ดร.สวนิตย์ กล่าวว่า หากมีความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน จะช่วยสร้างความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนเช่น กรณีที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อผลักดันการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในผลิตภัณฑ์น้ำมันระหว่างที่ร่าง พ.ร.บการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังไม่มีผลบังคับใช้จึงมีการใช้กลไกภาษีสรรพสามิตในการกำหนดภาษีคาร์บอนไปพลางก่อนที่กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้

สำหรับข้อเสนอต่อ ครม. จะแก้กฎกระทรวง และออกประกาศกรมสรรพสามิตกำหนดภาษีคาร์บอนในน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยกำหนดราคาที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า

รวมทั้งอัตราดังกล่าวจะทำให้น้ำมันดีเซล 1 ลิตร คำนวณการปล่อยคาร์บอน 0.0027 คูณกับราคาคาร์บอน 200 บาท เท่ากับ 0.55 บาทต่อลิตร โดยภาษีคาร์บอน 0.55 บาท ดังกล่าว จะรวมอยู่ในภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บอัตราลิตรละ 6.44 บาท ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดเก็บภาษีของญี่ปุ่นที่กระทรวงการคลังนำมาปรับใช้ในไทย

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ก็ได้หารือกับนางสาวกลุยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีและตรงกันก่อนที่จะนำเสนอเรื่องเข้าครม. ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีร่วมกัน

อีกทั้ง แม้ว่าแนวคิดคือการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน ซึ่งทำให้ภาษีคาร์บอนเข้าไปอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเดิม ซึ่งทำให้ยังคงเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราเท่าเดิมแต่เอกชนยังมีความกังวลถึงแนวโน้มของอัตราภาษีอนาคต

“เอกชนจึงหวังว่าการที่ภาครัฐหรือผู้มีอำนาจจะตัดสินใจออกมาตรการและข้อกำหนดใดๆ ควรร่วมหารือกับภาคเอกชนที่มีส่วนในการดำเนินธุรกิจโดยตรงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันก่อน และรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายความยั่งยืนไปด้วยกัน” ดร.สวนิตย์ กล่าว