‘กรมประมง’ส่งออก นิวไฮ ส่งออก 2.40 แสนล้านบาท สูงสุดรอบทศวรรษ

กรมประมง ชี้ส่งออกปี 67 ดีดตัว ทำมูลค่าได้สูงถึง 240,062 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตอบโจทย์เป็นครัวของโลก มั่นใจ แนวโน้ม สดใส พร้อมพัฒนาสินค้าเพิ่มมูลค่า เป้าสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรไทย
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปี 2567 นับเป็นปีที่สินค้าประมงทำรายได้สูงสุดในรอบ 10 ปี ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่สินค้าประมงของไทยยังสามารถเดินหน้าสร้างมูลค่าการส่งออกได้ถึง 240,062 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2565 และ 2566 ที่ทำมูลค่า 229,123 ล้านบาท และ 211,286 ล้านบาท ตามลำดับ และยังมากกว่าปี 2557 ที่เคยทำมูลค่าไว้สูงถึง 227,860 ล้านบาท
โดยปัจจัยหลักที่เป็นแรงหนุนให้เกิดการขยายตัวส่งออกเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าประมงแปรรูปได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มทูน่ากระป๋อง ซึ่งช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม 2567 มีปริมาณการส่งออก 548,653 ตัน มูลค่า 82,250 ล้านบาท มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 และร้อยละ 34 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566
นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มของ อาหารกระป๋องสำหรับสุนัขและแมว ซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าประมงที่ขยายตัวมากที่สุดในขณะนี้ โดยมีปริมาณส่งออก 174,793 ตัน มูลค่า 27,751 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 และร้อยละ 62 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยทั้งสองกลุ่มสินค้าดังกล่าวนับเป็นกลุ่มที่มีปริมาณการส่งออกที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ส่วนสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ มีการส่งออกทั้งปีปริมาณ 136,774 ตัน มูลค่า 43,325 ล้านบาท ปริมาณลดลงร้อยละ 0.38 และมูลค่าลดลงร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยปัจจัยหลักเป็นผลมาจากวัตถุดิบกุ้งในประเทศมีปริมาณน้อย ในขณะที่แนวโน้มการนำเข้ากุ้งของตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลทำให้อำนาจการซื้อลดลง รวมทั้งมีการแข่งขันด้านราคาอย่างมากของประเทศผู้ผลิตหลัก คือ เอกวาดอร์และอินเดีย แต่สัดส่วนการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญ อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกหลักสินค้าประมงของไทย โดยปี 2567 มีปริมาณส่งออก 271,521 ตัน มูลค่า 50,882 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 อันดับ 2 ญี่ปุ่น มีปริมาณ 196,362 ตัน มูลค่า 37,142 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 มูลค่าลดลงร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยสาเหตุมาจากปัญหาค่าเงินเยนอ่อนค่า
อันดับ 3 จีน มีปริมาณส่งออก 226,882 ตัน มูลค่า 22,391 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 2 เป็นผลมาจากสัตว์น้ำส่งออกบางชนิดมีราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และ ประเทศกลุ่มอาเซียน มีปริมาณการส่งออก 318,038 ตัน มูลค่า 22,090 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นมูลค่าการส่งออกสูงสุดมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง หมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง และปลากระป๋องอื่น ๆ เป็นต้น
สำหรับในปี 2568 เชื่อมั่นว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าประมงของไทยยังคงสดใส ด้วยปัจจัยบวกจากความต้องการสินค้าประมงในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยกรมประมงพร้อมที่จะมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าประมงไทยให้มีมาตรฐานตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางอาหารให้กับผู้บริโภค ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต รวมถึงจะเร่งขยายฐานการตลาดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านสินค้าประมงคุณภาพระดับโลกในอนาคต