OECD กับเกณฑ์ภาษีประเทศ มาตรฐานสากลคนไทยได้อะไร

สืบเนื่องจากที่“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.2567 โดยการจัดงานวันแรก พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สาระสำคัญส่วนหนึ่งบอกถึงแผนการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่อัตรา 15% ตามหลักการ Pillar 2 ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งอัตราการจัดเก็บภาษีของไทยต้องลดลงจากปัจจุบันที่ 20%
ถ้าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากขนาดนี้แล้วเราจะเข้าไปเป็นสมาชิกOECD เพื่ออะไร คำตอบนี้หาได้จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สมาชิกเต็มรูปแบบมีประโยชน์หลายด้าน เช่น การ ปฏิรูปโครงสร้างหลายมิติและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและโอกาสเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีโลก
ปัจจุบัน OECD มีสมาชิกทั้งหมด 38 ประเทศ จากทุกทวีป เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และยังมีอีก8 ประเทศที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก เช่น บราซิล อาเจนตินา อินโดนีเซีย และไทย
“การเข้าเป็นสมาชิกOECD เท่ากับยกระดับเศรษฐกิจประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ดีเท่าเท่ียมและทั่วถึง แต่สิ่งนี้ก็แลกมาด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกในระดับโครงสร้างกันเลยทีเดียว”
เมื่อเร็วๆนี้ OECD ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคดิจิทัล Pillar 2 โดยกำหนดให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (GMT) ในอัตรา 15% ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2568
ดังนั้นประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2567 มติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รวม 2 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของ OECD ซึ่งเสนอเข้ามาเป็นวาระลับประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.ก.การแก้ไขพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
“ในส่วนของประเทศไทยนั้นก็มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาสอบถามในส่วนนี้อยู่มาก หากเราสามารถประกาศได้ชัดเจนก็จะทำให้นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะมีการเลือกเสียภาษีในประเทศไหน จะเสียที่ประเทศไทยหรือประเทศต้นทาง”
ก่อนหน้านี้ OECD ได้ประเมินภาษี15% ไว้ว่าจะทำให้การโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศลดลงผลกำไรของบริษัทข้ามชาติจะยังอยู่ในประเทศนั้น ๆ และปัจจัยที่ไม่ใช่ภาษีจะถูกนำมาพิจารณามากขึ้นส่งผลดีต่อการกระจายการลงทุนและการจัดสรรทรัพยากร
ความพยายามของประเทศไทยที่จะเป็นสมาชิกOECD คือการวางรากฐานด้านความยั่งยืน ซึ่งอาจมีได้บ้างเสียบางและเรื่องของการบริหารจัดการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อไทยได้เป็นสมาชิกOECDแล้ว การยกระดับประเทศครั้งนี้ประโยชน์ที่ได้จะถึงคนเดินดินกินข้าวแกงให้ได้รวมอยู่ในโครงสร้างแห่งการพัฒนาที่ยังยืนร่วมกัน