3 เดือน นฤมล โดดเด่น ดึงไร่ละ1,000ช่วยชาวนา ตั้งงบฟื้นฟูหลังน้ำลด 2.5 พันล้าน
นฤมล พร้อมขับเคลื่อน 9 นโยบาย ภายใต้งบประมาณรายจ่ายปี2568 รวม 1.25 แสนล้านบาท 3 เดือน โดดเด่น พันชาวนาช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 ดึงงบกลางช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม กว่า 2.5 พันล้านบาท
KEY
POINTS
- 1 .กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี68 จำนวน 125,358 ล้านบาท เพื่อดำเนินตาม 9 นโยบายหลัก
- 2. ผลงานโดดเด่น 3 เดือน คือโครงการไร่ละ 1,000 บาท ช่วยชาวนา ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ วงเงินรวม 38,572.22 ล้าน
- 3. ขงงบกลางเพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 รวม 2,553 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 และมีผลใช้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 125,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.01 % จากปี 2567 หรือ 4,832 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณของส่วนราชการ จำนวน 122,627 ล้านบาท งบประมาณของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 270 ล้านบาท และกองทุนจำนวน 2,461 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณจำนวน 125,358 ล้านบาท
งบประมาณ ดังกล่าวสามารถดำเนินงานภายใต้การบริหารจัดการโดยตรงของ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นขับเคลื่อนและยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วย 9 นโยบาย ประกอบด้วย
1. เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ โดยเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้บริการ
2. เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร
3. บริหารจัดการน้ำ
4. ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง
5. ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง
6. จัดการทรัพยากรทางการเกษตร
7. รับมือกับภัยธรรมชาติ
8. สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน
และ9. อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร โดยพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร
ภายใต้นโยบายดังกล่าว ผลงานที่โดดเด่นของนางนฤมล คือ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567
โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 หรือ โครงการ ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ วงเงินรวม 38,572.22 ล้าน โดยระบุว่าจะสามารถแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ก่อนสิ้นปีนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ชิ้นแรกให้กับเกษตรกร
โดยโครงการนี้ ถือว่านำมาทดแทนโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือโครงการสนับสนุนปุ๋ยคนละครึ่ง ที่ต้องยกเลิกไป เนื่องจากไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร
นอกจากนี้ยังมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมายรวม 8.50 ล้านตัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 50,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 9,604.01 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2567/68 พ.ย.67
นางนฤมล ยังมีผลงานสำคัญในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.-10 ต.ค.2567 พื้นที่ประสบภัยรวม 52 จังหวัด โดยได้สั่งการจ่ายเงินเยียวยา งบประมาณทดรองจ่าย ทั้งพืชไร่ พืชสวน ประมงและปศุสัตว์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ประเมิน และประสานงานไปยังมหาดไทย เพื่อให้เงินเยียวยาออกโดยเร็วที่สุด และ ได้รับงบประมาณโครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 รวม 2,553 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 8 โครงการ ประกอบด้วย
1. การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลดได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย (กรมการข้าว) โครงการสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และการสนับสนุนพันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2567/2568 (กรมวิชาการเกษตร) โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประสบอุทกภัย (กรมหม่อนไหม) โครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 (กรมปศุสัตว์) โครงการส่งเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อพลาสติกและในกระชังบก (กรมประมง)
2. การฟื้นฟูพื้นที่เกษตรและซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตรได้แก่ โครงการปรับระดับพื้นที่เกษตรและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยระยะหลังน้ำลด ปี 2567 (กรมพัฒนาที่ดิน) การซ่อมแซมและฟื้นฟูเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กหลังน้ำท่วม (กรมวิชาการเกษตร)
และ 3. การลดภาระหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2567 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแทนสมาชิก ต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี
ทั้งนี้ ส่วนต้นเงินกู้ที่เกินกว่า 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ และขยายระยะเวลาการชำระหนี้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยขอความร่วมมือให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติด้านการเกษตร
“มุ่งหวังว่าการขับเคลื่อนงบประมาณตามแผนการดำเนินงานดังกล่าว จะส่งผลให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการทางการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน” นางนฤมล กล่าว