5 ปมร้อนรัฐบาล ‘แพทองธาร’ รอเข้า ครม. เผชิญแรงกดดัน 'เศรษฐกิจ' - 'การเมือง'

5 ปมร้อนรัฐบาล ‘แพทองธาร’ รอเข้า ครม. เผชิญแรงกดดัน 'เศรษฐกิจ' - 'การเมือง'

“รัฐบาลแพทองธาร” ฝ่า 5 ประเด็นร้อนรอเข้า ครม.วัดใจพรรคร่วม แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา เสนอ ครม.ตั้ง JTC ดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันเงินครบวงจร เร่งเสนอชื่อ “กิตติรัตน์” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แก้รัฐธรรมนูญอาจไม่ทันปี 2570

KEY

POINTS

  • “รัฐบาลแพทองธาร” เตรียมแถลงผลงาน 3 เดือน 12 ธ.ค.67 นี้ แต่ในการบริหารงานรัฐบาลยังมี 5 ประเด็นร้อนที่ยังรอเข้า ครม.และวัดใจพรรคร่วมรัฐบาล
  • 5 เรื่องสำคัญได้แก่ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เสนอ ครม.ตั้งกรรมการเจทีซี ดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันเงินครบวงจร และตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
  • ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญอีกเรื่องร้อนรัฐบาล อาจไม่ทันปี 70

 

 

 

 

รัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดจะแถลงผลงานในการทำงานครบ 3 เดือน ในวันที่ 12 ธ.ค.2567 เพื่อสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงผลงาน และความคืบหน้าในนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ทั้งนี้ หากนับระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทย นับจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ต่อเนื่องถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร มีการทำงานต่อเนื่องกันมา 1 ปี 3 เดือน ซึ่งมีประเด็นร้อนที่รัฐบาลยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นรูปธรรมถึง 5 เรื่อง ได้แก่ 

1.การแก้ไขสัญญาไอสปีด 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 2.การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยทางทะเลไทย-กัมพูชา 3.การผลักดันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร 4.การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ประเด็นร้อนทั้ง 5 เรื่อง เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องเห็นพ้องตรงกันก่อนเสนอ ครม.โดยต้องพูดคุยทางการเมืองให้เรียบร้อย ซึ่งรัฐบาลตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี 6 คณะ เป็นกลไกพูดคุยเรื่องที่มีแนวโน้มที่มีความเห็นที่แตกต่างในพรรคร่วมรัฐบาล หรืออาจต้องสอบถามความเห็นจากทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและหน่วยงานอื่นก่อนเสนอ ครม.

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมความคืบหน้าของทั้ง 5 ประเด็นร้อนของรัฐบาล ดังนี้

1.การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนล่าช้ามา 3 ปี ขณะที่การก่อสร้างล่าช้ามา 5 ปี โดยเปิดประมูลในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ยังไม่เริ่มก่อนสร้างเพราะมีการเยียวยาผลกระทบให้เอกชนคู่สัญญา (บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด)

ขณะที่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนผ่านการพิจารณาคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ตั้งแต่เดือนต.ค.2567 และเหลือเสนอ ครม.

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอยู่ขั้นตอนอัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญาก่อนเสนอ ครม.พิจารณา โดยคาดว่าเสนอได้ภายในเดือนม.ค.2568 หลังจากนั้นจะลงนามกับเอกชนคู่สัญญา

ชง ครม.2 รอบแก้สัญญาไฮสปีด

“อีอีซีปรับขั้นตอนการทำงานไม่ให้ซ้ำซ้อน โดยก่อนหน้านี้จะเสนอแก้ไขสัญญาเข้า ครม. 2 รอบ แบ่งเป็นเสนอพิจารณาในหลักการ และกลับมาทำร่างสัญญาให้อัยการตรวจสอบก่อนเสนอ ครม.อนุมัติอีกครั้ง แต่ตอนนี้ปรับแผนงานเป็นนำร่างสัญญาใหม่ให้อัยการตรวจสอบเลย และเสนอ ครม.ในครั้งเดียว”

ทั้งนี้ จากการปรับแผนงานดังกล่าวทำให้การดำเนินงานล่าช้าออกไปเล็กน้อย 1 เดือน จากเดิมจะเสนอ ครม.เดือนธ.ค.2567 เพื่อแก้ไขสัญญา และให้เอกชนเริ่มก่อสร้างไตรมาส 1 ปี 2568 แต่ขยับไทม์ไลน์ออกไป 1 เดือน เสนอ ครม.ในเดือนม.ค.2568 ซึ่งมั่นใจว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า

5 ปมร้อนรัฐบาล ‘แพทองธาร’ รอเข้า ครม. เผชิญแรงกดดัน \'เศรษฐกิจ\' - \'การเมือง\'

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

2.การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อนำปิโตรเลียมในทะเลมาใช้ประโยชน์ โดยใช้รูปแบบเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) ไทย-มาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลถูกต่อต้านจากกลุ่มไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็น MOU ปี 2544 ที่นำไปสู่ข้อกังวลการเสียเกาะกูด 

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า อยู่ขั้นตอนตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ระหว่างไทย และกัมพูชา โดยปรับปรุงองค์ประกอบกรรมการชุดเดิมให้ครบ และเตรียมเสนอ ครม.แต่ล่าสุดยังไม่คืบหน้า

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า ยังไม่คืบหน้าโดยกำลังหารือเดินหน้าอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และยังไม่แจ้งว่าจะเสนอ ครม.เมื่อใด 

ทั้งนี้รัฐบาลต้องดูข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเพราะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยต้องจับตาว่าเมื่อเรื่องเข้า ครม.แล้วพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะล่าสุดพรรครวมไทยสร้างชาติ มีแผนสำรองให้เปิดสัมปทานพื้นที่อันดามันมากกว่า 

พรรคร่วมหารือพื้นที่ตั้ง “กาสิโน”

3.การผลักดันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว และกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบได้นำเอาข้อคิดเห็นต่างๆ ไปปรับปรุงข้อกฎหมายให้มีความครบถ้วน 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานะของกฎหมายฉบับนี้รอบรรจุวาระการพิจารณาของ ครม.โดยเป็นกฎหมายที่จะนำไปสู่การลงทุนใหม่สร้างเม็ดเงินเพิ่มให้ประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ที่รองรับการท่องเที่ยว โดยพื้นที่กาสิโนที่อยู่ในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นั้นคิดเป็นเพียง 10% ของพื้นที่ทั้งหมด​

ส่วนร่างกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เมื่อไหร่ นั้นยังบอกเวลาที่แน่ชัดไม่ได้ แต่จะเป็นเวลาที่เหมาะสมซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้วจะมีขั้นตอนที่เสนอต่อสภาฯ ต่อไป

แหล่งข่าวในรัฐบาลเปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า พื้นที่ตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้หารือในพรรคร่วมรัฐบาลระดับหนึ่ง โดยหลังกฎหมายเสร็จจะตั้งคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร​​ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งตั้งสำนักงานกำกับการประกอบกิจการสถานบันเทิงครบวงจร เป็นหน่วยงานหลักกำกับดูแล ออกใบอนุญาต และจะกำหนดที่ตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

เคาะ 5 พื้นที่ตั้งสถาบันเงินครบวงจร 

แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นกำหนด 5 พื้นที่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ 

1.กรุงเทพมหานคร 2 โครงการ บริเวณท่าเรือคลองเตย

2.ชลบุรี บริเวณสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก 3.เชียงใหม่

และ 4.สงขลา

ซึ่งแต่ละพื้นที่นั้นมีการคำนึงถึงความเหมาะสมของขนาดเมือง การรองรับนักท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดนั้นๆ เป็นสำคัญ

ตั้งประธานบอร์ด ธปท.เผชิญแรงต้าน

4.การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.และคณะกรรมการคัดเลือกที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่

รวมทั้งเห็นชอบกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ได้แก่ 1.นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง 2.นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งนี้ ครม.ต้องให้ความเห็นชอบประธานกรรมการ ธปท.ก่อนทูลเกล้าฯ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยนายพิชัย ระบุว่าขอเวลาอีก 1-2 สัปดาห์ใช้เวลาดูข้อกฎหมายให้รอบคอบ

นอกจากนี้ มีการคัดค้านจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมมีหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และ ครม.ขอให้ตีตกการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ เป็นประธานกรรมการ ธปท.โดยอ้างประเด็นการเมืองแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลาง 

ขณะที่นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธปท.คนปัจจุบันรักษาการได้ 120 วัน หรือสิ้นสุดวันที่ 16 ม.ค.2568 ทำให้กระทรวงการคลังต้องเร่งเสนอ ครม.โดยเร็ว

แก้รัฐธรรมนูญงานร้อนของรัฐบาล

5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยพรรคเพื่อไทยให้คำมั่นทำให้เสร็จภายในปี 2570 กำลังถูกจับตามองจะทำได้หรือไม่ ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 นายเศรษฐา ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนั้น เป็นประธาน

ทั้งนี้ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญช้าลงมาก โดยไฮไลต์คือ แก้เกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ “จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ" และ “เสียงเห็นชอบต้องเป็นเสียงข้างมากที่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ” โดยรัฐบาลต้องการใช้แค่ “เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง”

รวมทั้งการแก้ พ.ร.บ.ประชามติ วนในสภาฯ 6 เดือน เพราะแม้ สส.จะแก้ไขเกณฑ์ผ่านประชามติได้ แต่ สว.เห็นต่างและ สว.ชุดใหม่ ฟื้นเกณฑ์ผ่านประชามติ 2 ชั้น ในชั้นกรรมาธิการที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.สายบ้านใหญ่ “บุรีรัมย์” เป็นประธาน

ล่าสุดมติกรรมาธิการร่วม 2 สภาฯ ยืนยันเกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว และสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภา ต้องลงมติเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งวุฒิสภาลงมติวันที่ 17 ธ.ค.67 ขณะที่สภาผู้แทนฯ ลงมติ 18 ธ.ค.67 ผลที่จะออกมาคาดไว้ว่าสวนทาง และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 และมาตรา 138 ระบุว่าต้องยับยั้งร่างกฎหมายไว้ก่อน 180 วัน เมื่อพ้นกำหนด ให้สิทธิ “สภาฯ” ยกร่าง พ.ร.บ.ที่ยับยั้งไว้มาพิจารณา

หากนับปฏิทินดูแล้ววันที่ครบ 180 วัน อยู่กลางเดือน มิ.ย.2568 อยู่ช่วงปิดสมัยประชุม กว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะให้ยืนยันต้องรอเดือนก.ค.เมื่อกางปฏิทินการเมืองเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐบาลปัจจุบันที่อาจทำได้แน่ๆ อาจเป็นไปไม่ได้ เพราะมีอุปสรรคทั้งกระบวนการยื่นตีความ กติกาประชามติ ก่อนประกาศใช้

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์