'ขึ้นภาษีแวต' นโยบายร้อน ‘คลัง’ สู้เสียงค้านไม่ไหว
รัฐบาลยันการขึ้นภาษีเป็นเพียงการศึกษา หลังเจอรุมค้านจากเอกชน "หอการค้าไทย" ชี้ ปรับขึ้นภาษีกระทบทั้งภาคเอกชน ประชาชน เหตุเศรษฐกิจไทยยังโตไม่ถึง 5% ด้านสมาพันธ์เอสเอ็มอี ค้านเวลายังไม่เหมาะสม ขณะที่ทีดีอาร์ไอแนะ 4 ข้อก่อนขึ้นภาษี
การปรับโครงสร้างภาษีถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุถึงการศึกษาปรับโครงสร้างภาษีบนเวที Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ของกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 โดยมีแนวคิดดังนี้
1.การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่อัตรา 15% ตามหลักการ Pillar 2 ขององค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งอัตราการจัดเก็บภาษีของไทยต้องลดลงจากปัจจุบันที่ 20% เพื่อให้สามารถแข่งขันกับชาวโลกได้
2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บในอัตราที่ลดลงมาเพื่อให้ดึงดูดบุคลากร และคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่จะจัดเก็บภาษีเงินได้อยู่ที่ 17-18% และต่ำที่สุดที่ 15%
3.ปรับเพิ่มภาษีบริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งฐานภาษีไทยอยู่ระดับต่ำเพราะฐานภาษีใหญ่จากภาษีการบริโภค หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคงไว้ที่อัตรา 7% เท่านั้น จากอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 10% ขณะที่เฉลี่ยแล้วทั่วโลกจัดเก็บที่อัตรา 15-25% โดยจีนจัดเก็บที่ 19% สิงคโปร์ 9% และหลายประเทศในยุโรปอยู่ที่ 20%
“ภาษีบริโภคเป็นภาษีที่คนทั่วไปมองว่าเซนซิทีฟ อย่างไรก็ตาม หากจัดเก็บอัตราเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวย และคนจนให้เล็กลงได้” นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ แนวคิดของกระทรวงการคลัง มองว่าการบริโภคเป็นไปตามฐานะบุคคล โดยคนรวยมากจะบริโภคมาก ส่วนคนรายได้น้อยจะบริโภคน้อย ดังนั้นหากเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำหมายความว่าทุกคนจ่ายต่ำ ยอดการจัดเก็บรายได้รัฐก็จะมีน้อย
ขณะที่หากเก็บภาษีบริโภคอัตราสูงขึ้นจะทำให้รัฐมีรายได้มากขึ้น ซึ่งนำรายได้มาจัดสรรงบประมาณ และส่งผ่านให้คนรายได้น้อย เช่น สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจในประเทศ
แนวคิดการปรับโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่กระทบโดยตรงต่อประชาชนทำให้มีแรงกระแทกถึงรัฐบาล และทำให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงในวันที่ 6 ธ.ค.2567 ผ่านโซเชียลมีเดียว่า
“ไม่มีการปรับ VAT เป็น 15% กระทรวงการคลังกำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องมองทั้งระบบให้ครบทุกมิติและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การปรับโครงสร้างภาษีของประเทศอื่นใช้เวลาศึกษา และปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางประเทศใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่า 10 ปี”
สำหรับการโยนข้อเสนอการปรับภาษีออกมาดังกล่าวเป็นอีกครั้งที่กระทรวงการคลัง ทำได้เพียงขั้นตอนการศึกษา โดยเฉพาะการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตราจัดเก็บอยู่ที่ 10% แต่มีการจัดเก็บที่ 7% มามากกว่า 20 ปี และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติคงอัตราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2567 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2568 เพื่อให้สอดคล้องสภาวะเศรษฐกิจ
การปรับอัตราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีความเห็นที่หลากหลายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยนักธุรกิจมองว่ายังไม่ถึงเวลาการปรับเพิ่มเพราะจะกระทบการบริโภค
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพดานภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 10% แต่ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ถึง 2% ทำให้รัฐบาลคงต่ออายุการเก็บไว้ที่ 7% และปี 2567 เศรษฐกิจไทยเติบโตระดับเดิม ดังนั้น จึงยังไม่ใช่เวลาที่จะปรับขึ้น
รวมทั้งหากรัฐบาลจะปรับขึ้นคงไม่ขึ้นทันที คงต้องหารือกับภาคเอกชนก่อน เพราะการจะปรับขึ้นจาก 7% เป็น 10% หรือ 15% จะกระทบประชาชน และภาคเอกชน โดยเฉพาะอาจทำให้มีการเลี่ยงการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
“ปัจจุบันรัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจำนวนมาก เพราะยังไม่เข้าสู่ระบบภาษีโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และผู้ที่ค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล ถ้ารัฐบาลจะเก็บแวตเพิ่มขึ้นอีกเกรงจะทำให้ผู้ประกอบการเลี่ยงการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม"
รวมทั้งรัฐบาลต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าสู่ระบบภาษีให้มากขึ้น และหากรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 5% กระจายรายได้สู่ประชาชนให้มากขึ้นเชื่อว่าการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มน่าจะเป็นที่ยอมรับ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ประชาชนมีปัญหาหนี้ครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ยังมีปัญหาหนี้สิน
“ทางที่ดีรัฐบาลควรผลักดันให้ธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใต้ดิน ธุรกิจที่เป็นนอมินีของคนต่างด้าว ซึ่งคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้ทำธุรกิจในไทยโดยเลี่ยงกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อที่รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นเงินจะไหลออกนอกประเทศหมด”
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อํานวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)แสดงความเห็นว่า ประเด็นมาตรการภาษีดังกล่าว 4 ข้อ ได้แก่
1.การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ประกาศล่วงหน้า เช่น ขึ้น 1% ก่อนแล้วหาจังหวะในอนาคตขึ้นทีละ 1% แต่ไม่ประกาศล่วงหน้าเพราะอาจทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) โดยมีเป้าให้เพิ่มขึ้นถึง 10% ภายใน 5 ปี
2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ควรเก็บเป็นอัตรา flat rate เนื่องจากไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีรายได้สูง-ต่ำ รวมทั้งควรพิจารณาลดการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีที่ให้ประโยชน์กลุ่มรายได้สูง ขณะที่การคิดภาษีเงินได้จากดอกเบี้ย และปันผลอาจพิจารณาเป็น flat rate เพื่อง่ายต่อการคำนวณ
3.หากพิจารณาปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 15% จากปัจจุบัน 20% ควรยกเลิกสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทุกอุตสาหกรรมอย่างเท่าเทียม แล้วเปลี่ยนเป็นการใช้มาตรการในด้านอื่น อาทิ การพัฒนาทักษะแรงงาน และการลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น เพื่อลดการรับเงินใต้โต๊ะอีกด้วย
4.การพิจารณาเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน เช่น Capital Gain, Windfall Tax
นอกจากนี้ ดร.สมชัย เห็นว่าข้อเสนอเรื่องภาษีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในภาพรวมนั้นจำเป็นเพราะรายได้ภาษีไทยต่ำไปมาก แต่ในรายละเอียดต้องปรับอีกเยอะ ที่สำคัญเหมือนท่านจะลืมแหล่งรายได้ภาษีที่สำคัญ และควรจัดเก็บเพิ่มขึ้นอย่างมากคือ ภาษีจากฐานทรัพย์สิน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์