แผนสำรองเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา สะดุด 'พีระพันธุ์' จ่อประมูลแหล่งอันดามัน
ความหวังใหม่แหล่งพลังงานไทย "พีระพันธุ์" จ่อเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ฝั่งทะเล "อันดามัน" เหตุ เจรจาพื้นที่ทับซ้อน "ไทย-กัมพูชา" ยังไร้วี่แววได้ข้อสรุป มั่นใจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
KEY
POINTS
- "พีระพันธุ์" จ่อเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ฝั่งทะเล "อันดามัน" เหตุ เจรจาพื้นที่ทับซ้อน "ไทย-กัมพูชา" ไร้ข้อสรุป มั่นใจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
- กระทรวงพลังงานระหว่างตั้งคณะทำงานศึกษาแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ ทะเลอันดามัน จากที่เคยสำรวจมาแล้วพบว่ามีแหล่งพลังงานแต่ด้วยเทคโนโลยีปี 2548 พบความไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
- เมื่อไทยยังไม่สามารถตกลงในพื้นที่ OCA ได้ในเร็ววันนี้ จึงมองว่าหากเปิดให้มีการสำรวจและขุดเจาะโดยเร็วก็จะสามารถนำน้ำมันใต้ทะเลมาให้คนไทยได้ใช้ในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าน้ำมันปัจจุบันกว่า 90%
จากความเห็นต่างในเรื่องการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาและ MOU 44 หรือ MOU 2544 นั้น มีความเห็นต่างกัน ดังนั้น บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจะต้องยึดประโยชน์และความถูกจนถึงที่สุด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องดินแดนซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
อีกทั้ง การแสดงความคิดเห็นควรเห็นแก่บ้านเมือง ไม่ใช่วาระทางการเมือง และควรรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานของรัฐที่มีองค์ความรู้ และทํางานรักษาประโยชน์ประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเอาทรัพยากรใต้ทะเลที่มีมูลค่ามหาศาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่า เศรษฐกิจให้กับประเทศ
ดังนั้น ในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปดังกล่าวดูเหมือนจะยังไร้วี่แวว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่มีการตั้งคณะทำงานเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจาแต่อย่างใด ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงมีแนวคิดที่จะเปิดสำรวจแหล่งพลังงานแหล่งใหม่เพื่อเพิ่มทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และลดการนำเข้าให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทย
ทั้งนี้ ในแต่ละประเทศทั่วโลก ต่างมีปริมาณทรัพยากรน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ มาก-น้อย แตกต่างกันไป ตามสภาพทางธรณีวิทยา
สำหรับในประเทศไทย มีแหล่งปิโตรเลียมที่เป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งแหล่งในทะเลอ่าวไทย และแหล่งบนบก สำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลที่ทุกท่านน่าจะเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง ได้แก่ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ เป็นต้น และแหล่งน้ำมันดิบในทะเล เช่น แหล่งเบญจมาศ แหล่งบัวหลวง เป็นต้น
ส่วนแหล่งปิโตรเลียมบนบกที่ทุกท่านคงเคยได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ ได้แก่ แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จังหวัดกำแพงเพชร หรือแหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญของประเทศ รวมถึงแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี และแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ว่าในประเทศไทยจะมีทั้งแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่หลายแห่งก็ตาม แต่พบว่า อัตราผลิตยังคงน้อยกว่าอัตราการใช้อยู่หลายเท่า จึงทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติมาเพื่อใช้ภายในประเทศเป็นจำนวนมาก
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานศึกษาแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ (25-26) ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะติดกับอินโดนีเซียโดยจะมีกระเปาะขนาดใหญ่แต่ลักษณะจะลึกมากไม่เหมือนอ่าวไทยที่มีความตื้นกว่า
นอกจากนี้ จากที่เคยสำรวจมาแล้วพบว่ามีแหล่งพลังงานอยู่จำนวนมากแต่ด้วยเทคโนโลยีปี 2548 พบว่าหากจะขุดลงไปใต้ท้องทะเลที่มีความลึกจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ปัจจุบันเนื่องด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถขุดเจาะลงใต้ท้องทะเลที่ลึกมากกว่า จึงมองว่าจะเป็นอีกทางเลือกให้คนไทยได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ราคาถูก
“เมื่อไทยยังไม่สามารถตกลงในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย–กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ได้ในเร็ววันนี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงมองว่าหากเราสามารถเปิดให้มีการสำรวจและขุดเจาะโดยเร็วก็จะสามารถนำน้ำมันใต้ทะเลมาให้คนไทยได้ใช้ในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าน้ำมันปัจจุบันกว่า 90%”
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แหล่งทะเลอันดามันถือเป็นอีกความหวังที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานที่ดี ซึ่งนายพีระพันธุ์ ยังหวังว่าหากเปิดสำรวจแหล่งดังกล่าวได้เร็ว ก็จะสามารถนำเชื้อเพลิงขึ้นมาให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์ ลดการนำเข้าได้ดี สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติภายใน 5-6 ปีนี้