‘คมนาคม’ ชง ครม.พรุ่งนี้ ต่ออายุรถไฟฟ้า 20 บาท คาดสูญรายได้ต่ำกว่า 300 ล้าน
“คมนาคม” เสนอ ครม.พรุ่งนี้ ต่อมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทไปอีก 1 ปี “กรมการขนส่งทางราง” คาดสูญรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 300 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย ในวันที่ 29 พ.ย.2567 กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม. ต่ออายุมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกไปอีก 1 ปี โดยจะครบกำหนดในวันที่ 30 พ.ย.2568 จากเดิมจะสิ้นสุดอายุมาตรการในวันที่ 30 พ.ย.2567
ทั้งนี้ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ยังคงมีแนวโน้มยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ รฟท. ระบุว่า ในช่วงเดือนต.ค.2567 รถไฟฟ้าสายสีแดง มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 1,056,783 คน ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง ในเดือนต.ค.2567 มียอดผู้ใช้บริการอยู่ที่ 2,153,904 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ขณะที่การดำเนินมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกเส้นทาง ทุกสี และทุกสายนั้น ยืนยันว่า จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในเดือนก.ย.2568 ประกอบกับรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ไปยัง ครม. แล้ว อยู่ระหว่างรอบรรจุเป็นวาระการประชุม ครม. และเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า หลังจากกระทรวงฯ เริ่มนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2566 เป็นต้นมา พบว่าสูญเสียรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยผลการดำเนินมาตรการ สะสม ณ สิ้นเดือนก.ย.2567 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 รถไฟชานเมืองสายสีแดง ก่อนดำเนินมาตรการ มีรายได้ 203.47 ล้านบาท
เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงจากเดิม 2.59 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนดำเนินมาตรการ มีรายได้เฉลี่ย 455.46 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงจากเดิม 119.33 ล้านบาท
เช่นเดียวกับปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยของรถไฟฟ้าทั้งสองสาย เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกับของปี 2566 ภายหลังเริ่มดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา ในภาพรวมพบว่ามีผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยจำนวนผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพิ่มขึ้นประมาณ 51.86% ในขณะที่ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพิ่มขึ้นประมาณ 17.54%
อย่างไรก็ดี หาก ครม.มีมติอนุมัติขยายมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทไปอีก 1 ปี เบื้องต้นประมาณการว่าในปีงบประมาณ 2568 (ธ.ค 2567 - พ.ย.2568) รถไฟชานเมืองสายสีแดง จะสูญเสียรายได้ประมาณ 35,350,605 บาท ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปีงบประมาณ 2568 (ธ.ค. 2567 - พ.ย. 2568) คาดสูญเสียรายได้ประมาณ 272.99 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง เปรียบเทียบจากผลการดำเนินงานนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ารถไฟฟ้าทั้งสองโครงการสูญเสียรายได้น้อยกว่าที่ประมาณการไว้ เนื่องจากมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการขยายมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทไปอีก 1 ปีนับจากนี้ ผลการดำเนินงานของรถไฟฟ้าทั้งสองสายจะสูญเสียรายได้ต่ำกว่าคาดการณ์ และจะก่อให้เกิดผลบวกในด้านปริมาณการเดินทางระบบขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์