"ไทย"ใช้ดิจิทัลทำการค้าระหว่างประเทศ อันดับ 32 ของโลก

"ไทย"ใช้ดิจิทัลทำการค้าระหว่างประเทศ อันดับ 32 ของโลก

หอการค้านานาชาติ เผยประเทศไทยมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้สำหรับการค้าระหว่างประเทศในระดับปานกลาง โดยอยู่อันดับ 32 ของ Global Trade Modernization Index 2024 จากการสำรวจทั้งหมด 65 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 3 ในอาเซียน

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ ในไตรมาสแรก ปี 2567 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศเมียนมาร์  นอกจากนี้ การค้าดิจิทัล หรือ การใช้ระบบดิจิทัลในการค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับปานกลาง โดยอยู่อันดับ 32 ของโลกใน Global Trade Modernization Index 2024 และอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

ในการสำรวจและจัดอันดับ Global Trade Modernization Index ได้พิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจ 5 ประการ คือ การค้าที่ลดการใช้กระดาษ (Paperless Trade) การเปิดกว้างทางการค้า (Trade Openness) กฎระเบียบ (Regulatory Environment) ความพร้อมของภาคธุรกิจ (Business Readiness) และทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อนำไปสู่ความพร้อมของการค้าดิจิทัล (Digital Trade) ซึ่งหมายถึงการค้าที่มีการสั่งผ่านช่องทางดิจิทัล (Digitally delivered trade) และ/หรือส่งมอบผ่านช่องทางดิจิทัล (Digitally ordered trade) มีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจให้มีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

 

ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีการลดการใช้กระดาษในการค้า 22.5% (อันดับ 3), การเปิดกว้างทางการค้า 7.1% (อันดับ 6), ความพร้อมของภาคธุรกิจ 14.5% (อันดับ 3), ทุนมนุษย์ 6.1% (อันดับ 4) และกฎระเบียบ 16.1% (อันดับ 3)

 

“เรามองว่าประเทศไทย ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ หากเราทำได้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกมาก” 

 

หอการค้านานาชาติ แห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า รัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรจะกระตุ้นและผลักดันเอกชนไทยในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำการค้าให้มากขึ้น โดยกฎหมายที่จำเป็นและเอื้อให้เกิดการใช้ดิจิตอลในการค้าระหว่างประเทศของไทย เช่น Electronic Bill of Lading รวมทั้งผลักดันให้เกิดการใช้ National Single Window ให้เป็นรูปธรรมและเต็มรูปแบบ และโครงการระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความรวดเร็ว และมีมาตรฐานระดับโลกแล้ว ยังอาจช่วยขจัดความไม่โปร่งใสอีกด้วย