คลื่นทุนจีนหนีผลสงครามการค้า-เฝ้าระวัง-รู้จักใช้ประโยชน์

คลื่นทุนจีนหนีผลสงครามการค้า-เฝ้าระวัง-รู้จักใช้ประโยชน์

พาณิชย์ประเมินผลกระทบสงความการค้าสหรัฐ-จีน ชี้มีโอกาสทุนจีนไหลเข้าไทยเพิ่ม เชื่อเพื่อประโยชน์ศักยภาพการขยายตลาดหนุนการเติบโตร่วมกัน

การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐเพื่อเฟ้นหาประธานาธิบดีในอีก 4 ปีข้างหน้ากำลังจะเกิดขึ้นในช่วงพ.ย.2567 การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างสหรัฐย่อมส่งผลกระทบในภาพรวมการค้าและการลงทุนของโลก ซึ่งธรรมชาติของการเมืองช่วงเลือกตั้งมักมีการหยิบยกประเด็นเพื่อการคุ้มครองและดูแลเศรษฐกิจในประเทศอย่างสุดขั้วขึ้นมาใช้ ทำให้ประเด็น "สงครามการค้าสหรัฐ-จีน"ถูกกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งหลังสหรัฐขยับขึ้นภาษีหลายรายสินค้าจากประเทศจีน 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)เปิดเผยว่า  ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน อย่างใกล้ชิดเบื้องต้นประเมินว่าการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐกับจีน รวมถึงการตอบโต้กลับของจีนอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนสินค้า ตลอดจนการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน ว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการนำเข้าของไทยอย่างไร รวมถึงแสวงหาโอกาสและดำเนินการเชิงรุกในการรับมือกับผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นโดย สนค. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจการค้าไทยอย่างใกล้ชิด

สำหรับการใช้มาตรการทางภาษีรอบล่าสุดของสหรัฐ กับจีน เป็นการปรับขึ้นอัตราภาษีกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนที่กำหนดเริ่มบังคับใช้มาตรการในช่วงปี 2567 – 2569 โดยขึ้นอยู่กับแต่ละรายการสินค้า จึงต้องติดตามปริมาณการส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐ ในสินค้าที่สหรัฐ จะบังคับใช้มาตรการทางภาษีกับจีน เพื่อประเมินผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 เนื่องจากทางรัฐบาลสหรัฐ ได้เร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและปกป้องอุตสาหกรรมดังกล่าวจากประเด็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของจีน อย่างเช่น โซลาร์เซลล์

ทุนจีนเข้าไทยเพิ่มเหตุตลาดศักยภาพ

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่การลงทุนจากจีนในไทยอาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจีนมีแนวโน้มขยาย/ย้ายฐานการผลิตเพื่อออกห่างจากพื้นที่พิพาทและหลีกเลี่ยงการถูกใช้มาตรการทางภาษีจากสหรัฐ รวมถึงใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าสำหรับจำหน่ายและส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดศักยภาพและตลาดใหม่ที่มีการเติบโตสูงในไทยและภูมิภาคอาเซียน

สำหรับสงครามการค้ารอบล่าสุด ประเมินเบื้องต้นในระยะสั้นไม่น่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในปี 2561  ซึ่งเป็นสงครามการค้ารอบแรกส่งผลให้การส่งออกของไทยปี 2562 หดตัวที่2.6%  จากขยายตัวร้อยละ 9.9% ในปี 2560  และ ขยายตัวที่ 6.9% ในปี 2561 

“ผลสงครามการค้ารอบนี้คาดว่าอาจมีผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยบ้าง สำหรับสินค้าที่อาจได้อานิสงส์จากการที่สหรัฐ ใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน โดยการส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยาง”

จากข้อมูล พบว่า ปี 2566 มูลค่าการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ สูงที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก แหล่งนำเข้าส่วนใหญ่มาจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 5 มูลค่าการนำเข้า 2,322 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน5.6% ของมูลค่าการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของสหรัฐ  หดตัว29.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

เชื่อสหรัฐไม่มัดรวมสินค้าไทย-จีน

ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 6 มูลค่าการนำเข้า 1,960 ล้านดอลลาร์  สัดส่วน 4.7%  หดตัว10.0%  ซึ่งถือว่าดีกว่าการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของสหรัฐ ที่หดตัว15.1%

 นอกจากนี้ การเติบโตเฉลี่ย (CAGR) มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐ จากไทยในช่วงปี 2560 – 2566 ขยายตัวถึง 13.6% ทั้งนี้ การเติบโตเฉลี่ย (CAGR) แหล่งการนำเข้าอันดับหนึ่งของสหรัฐได้แก่ จากจีน หดตัว 6.0% และมาเลเซีย หดตัว3.9%

ในส่วนกรณีรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าระยะสั้นยังไม่น่าจะมีผลต่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทย เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายรายมีเป้าหมายในการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ พบว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์ทั้งคันจากไทยไปยังสหรัฐ น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกชิ้นส่วนของรถยนต์ประเภทสันดาปภายใน และตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนและโอเชียเนีย โดยเฉพาะออสเตรเลีย

ไทยเสี่ยงโดนสหรัฐเก็บเอดีแผงโซลาร์เซลล์

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูลจาก The New York Times ระบุว่า โรงงานผลิตโซล่า 7 รายในสหรัฐ รวมตัวกันก่อตั้ง American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee จากนั้นเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 ได้ยื่นคำร้องเรียนด้านการค้าต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐและ U.S. International Trade Commission (USITC) โดยระบุว่า แผงโซล่าเซลล์จากจีนจำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดสหรัฐ ทำให้ราคาแผงโซลาร์เซลล์ในตลาดตกต่ำ พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่อไปสู่การทุ่มตลาดสินค้าโซลาร์เซลล์ในสหรัฐ

ข้อเรียกร้องจากกลุ่มโรงงานผลิตแผงโซลาเซลล์สหรัฐทั้ง 7 ราย ต้องการให้สหรัฐจัดทำมาตรการคุ้มครองธุรกิจสหรัฐ ด้วยการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดและตอบโต้การอุดหนุน (antidumping และ countervailing duty)สินค้าแผงโซลาร์เซลล์ที่เป็น crystalline silicon photovoltaic cells ทั้งที่ถูกประกอบและที่ไม่ถูกประกอบเข้าเป็น modules แล้ว ที่นำเข้ามาจากโรงงานผลิตในกัมพูชา มาเลเซีย ประเทศไทย และเวียดนาม

เบื้องต้นคาดว่าอัตราภาษีที่สหรัฐจะเก็บจากสินค้านำเข้าจากกัมพูชาจะเท่ากับ 126.1% จากมาเลเซีย 81.2% จากประเทศไทย 70.4% และ จากเวียดนาม 271.5 %

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลจากสงครามการค้าสหรัฐจะทำให้การลงทุนของประเทศจีนเปลี่ยนแปลงโดยจะมุ่งหาแหล่งลงทุนใหม่ๆเพื่อลดผลกระทบความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทสไทยเท่านั้นแต่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคโดยเฉพาะอาเซียนจะเป็นแหล่งลงทุนใหม่ของจีน แต่โดยรวมแล้วจีนเองก็ยังต้องรักษาฐานการผลิตในจีนไว้ต่อไปเพราะจีนไม่ได้ค้าเฉพาะกับสหรัฐเท่านั้น การวางยุทธศาสตร์การลงทุนจึงต้องตอบโจทย์ในภาพรวมด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนและการผลิตสินค้าของจีนจะมีลักษณะเฉพาะคือการผลิตจำนวนมากๆเพื่อให้ได้  Economies of scale จะมีผลต่อราคาขายดังนั้นไทยเองก็ต้องระมัดระวังประเด็นนี้ หรือปรับเพื่อใช้ประโยชน์จากการขับเคลื่อนใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้