“ต้นทุนธุรกิจ”ครึ่งปีหลังยังทรงตัวสูง ซ้ำธุรกิจตกที่นั่ง”เสือลำบาก"

“ต้นทุนธุรกิจ”ครึ่งปีหลังยังทรงตัวสูง ซ้ำธุรกิจตกที่นั่ง”เสือลำบาก"

ปี 2567 ปัจจัยโลกไม่ส่งเสริมการค้าโลกให้โลดแล่นได้คล่องตัวอย่างที่ควรจะเป็น ประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของจีดีพีจึงอยู่บนทางแยกที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน

ไม่เพียงแค่ให้ผ่านพ้นปีนี้ไปให้ได้ แต่ต้องพร้อมเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ทำให้ภาคส่งออกไทยเปรียบเหมือน“เสือลำบาก” คือ เสือที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บ จากปัจจัยเสี่ยงทางการค้าต่างๆ จนต้องมีความดุร้ายมากกว่าปกติซึ่งหมายถึงส่งออกปีนี้ต้องทำงานแบบดุดันมากขึ้น 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าเศรษฐกิจไม่ดี เป็นช่วงขาลงของทั่วโลก ตั้งแต่เงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก และเกือบทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ ใช้วิธีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้าทำไม่ได้ เพราะกำลังซื้อยังอ่อนแรงจากเศรษฐกิจโดยรวมและเงินเฟ้อเอง 

จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีประเทศใดแสดงท่าทีจะลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวโดยเฉพาะมหาอำนาจที่ยังไม่มีสัญญาณการลดดอกเบี้ยเลยทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซึมตัว เพราะไม่มีประเทศใดต้องการลดดอกเบี้ยก่อนเพราะกลัวว่าจะเงินจะไหลออกจากประเทศไปยังอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า

“ตอนนี้เป็นภาวะการณ์ดึงกันไปดึงกันมาไม่มีใครยอมลดดอกเบี้ยก่อน ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไม่ลดดอกเบี้ย ประเทศเศรษฐกิจเล็กอย่างไทยก็ยิ่งไม่ลดดอกเบี้ยก็ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวจนถึงขณะนี้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น”

สำหรับประเทศไทย  เงินเฟ้อ มีสาเหตุสำคัญมาจากต้นทุนพลังงาน ขณะที่ด้านอาหารไทยถือว่าเป็นเซฟโซนคือมีการผลิตคอาหารเอง และส่วนเหลือ 30% ก็ส่งออกทำให้เงินเฟ้อจากอาหารมีปัจจัยต่ำกว่า แต่ไทยต้องเผชิญปัญหาต้นทุนพลังงานสูงแต่ถ้าควบคุมได้ดี ไม่สูงมากก็พอรับมือไหวและยังไปต่อได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถึงพาการส่งอกเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจตโลกไม่ฟื้นตัวภาคการส่งออกก็ไม่สดใสตามไปด้วย แต่ปีนี้ยังโชคดีที่มีภาคการท่องเที่ยวมาเสริมให้มีเม็ดเงินภายในเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มเติมจากเงินงบประมาณรายจ่ายภาครัฐที่นำมาใช้ได้แล้วเมื่อไม่นานมานี้ ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังอ่อนแรงจากภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐเข้าใจประเด็นต้นทุนทางธุรกิจของเอกชนและควรมีมาตรการมาดูแลเพื่อให้เอกชนไปได้ต่อ ไม่ต้องล้มหายไปจากวงจร เพราะการเข้าถึงสินเชื่อช่วงเศรษฐกิจขาลงทำได้ยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ที่เผชิญความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อทำให้หลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหา อัตราดอกเบี้ยที่สูง เบื้องต้นต้องอธิบายว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ทางหลักการถือว่าไม่สูงแต่เมื่อดอกเบี้ยผ่านกระบวนการต่างๆจนไปถึงผู้ประกอบธุรกิจจริงจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 8% สะท้อนว่า ธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินสูงถึง 8% หากจะทำธุรกิจให้ได้กำไร หรือ อยู่รอดได้ ต้องมีส่วนต่างทางการเงินสุทธิที่รายได้มากกว่าต้นทุนที่เท่ากับหรือสูงกว่า 8% ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันถือว่ายากมาก 

“ดอกเบี้ยนโยบาย ถือว่าไม่สูง ที่2.5% แต่เมื่อไปถึงผู้ประกอบการอัตราดอกเบี่้ยจะอยู่ที่ประมาณ 8%ทำให้ธุรกิจต้องมีกำไรมากว่า 8% จึงจะอยู่รอด ดังนั้นรัฐควรช่วยทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและการเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อสกัดปัญหาธุรกิจอาจไปต่อไม่ไหว” 

สำหรับปัจจัยกระทบต่อการส่งออก อื่นๆ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่หากมีการเปลี่ยนตัวก็็อาจเกิดประเด็นสงครามการค้ากับจีน หรือ หากไม่เปลี่ยนตัวก็ยังต้องระมัดระวังช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่อาจมีนโยบายหรือมาตรการทางกาค้าหรือเศรษฐกิจต่างๆเพื่อผลทางการเมืองและคะแนนเสียงซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหรือการค้าของไทยได้

“สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำตอนนี้คือติดตามสถานการณ์โดยรวมทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด  กำหนดช่องทางการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นทั้งที่คาดเดาได้และอาจคาดเดาไม่ได้ และที่สำคัญต้องมองหาการทำงานเชิงรุกเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้ธุรกิจไม่ให้ถูกโจมตีจากต่างๆต่างๆได้ง่ายๆและมองหาโอกาสใหม่ๆให้ธุรกิจด้วย” 

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  คงคาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตที่ 1-2%  (ณ เดือนมิ.ย.2567) โดยมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ ได้แก่ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการตั้งกำแพงภาษีการค้า โดยเฉพาะระหว่าง จีน-สหรัฐ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง 

 2. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต อาทิ 2.1. ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น 2.2. ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมัน และไฟฟ้า 2.3. ค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ปรับสูงขึ้นทุกเส้นทาง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีนกระทบต้นทุนและระยะเวลาการดำเนินการ 

3. ผู้ส่งออกกกลุ่มเอสเอ็มอีเริ่มประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก และ 4. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีความเสี่ยงต่อผลผลิตภาคการเกษตร

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. รัฐบาลต้องกำกับดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้า ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 2. ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่ง โดยการจองระวางล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงต้องบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม 

3. รัฐบาลต้องบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ลานีญา 4. รัฐบาลต้องสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก 5. รัฐบาลต้องพิจารณาปรับปรุงและเพิ่มโควตาการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ กาแฟ มะพร้าว ฯลฯ 6. รัฐบาลต้องเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ภาคการส่งออกที่กำลังได้รับบาดเจ็บจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกเป็นเหมือนการสร้างแรงฮึดให้ส่งออกไทยปีนี้ควรจะเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อปรับโครงสร้างการส่งออกใหม่ ให้ขึ้นไปสู่การส่งออกสินค้าที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ไร้คู่แข่งแทนที่จะส่งออกสินค้าพื้นฐานที่พร้อมอ่อนไหวไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เหมือนกับเมื่อเสือลำบากเมื่อถึงคราวต้องสู้เสือก็จะดุร้ายและพร้อมประกาศอาณาเขตทางการค้าใหม่ๆได้