ดัชนีMPI เม.ย.67 พลิกบวกกว่า 3% หลังติดลบยาว 18 เดือนติด

ดัชนีMPI เม.ย.67 พลิกบวกกว่า 3% หลังติดลบยาว 18 เดือนติด

เครื่องปรับอากาศ-ปิโตรเคมี ดันดัชนีMPI เม.ย. 67 พลิดบวก 3% หลังติดลบมา 18 เดือนติด "สศอ." เตรียมสรุปตัวเลข 30 พ.ค.นี้  "พิมพ์ภัทรา" เร่งประสานทุกหน่วยงานให้ข้อมูล หวั่น "เอสเอ็มอี" ทยอยปิดตัวลง ชี้หากไม่เร่งช่วยอีก 5-10 ปี เหลือไม่ถึงครึ่ง แล้วความสำคัญก.อุตฯ อยู่ตรงไหน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ภาคการผลิตยังไม่ตรงตามเป้า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมองที่เป็นซัพพลายเชน ที่ต้องให้ความรู้เอสเอ็มอี โดยที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังห่วงการเข้าถึงแหล่งทุน กระทรวงอุตสาหกรรมมีเงินทุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เพื่อให้เข้าถึง แต่ก็ต้องยอมรับว่าข่าวสารและการเข้าถึงผู้ประกอบการยังน้อย 

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบว่าตัวเลขการเติบโต GDP ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีปัญหา จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมอยู่รอดต่อไปได้ การประคับประคองเอสเอ็มอีให้คงอยู่เป็นหัวใจของกระทรวงฯ เพราะปัจจุบันทั่วโลกต่างออกกฏกติกาการกีดกันทางการค้ามากมาย เทรนด์การค้าขายก็เปลี่ยนแปลงไปมีหลายรูปแบบทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหายไปเรื่อยๆ และหากไม่รีบช่วยเหลือและไม่ทำอะไรเลยอีก 5-10 ปี ผู้ประกอบการจะหายไปอีกครึ่งหนึ่ง แล้วความสำคัญของกระทรวงอุตฯ จะอยู่ตรงไหน 

เมื่อถามถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจากกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ให้หยุดการปฎิบัติหน้าที่ นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการก็เดินไปตามขั้นตอน ทุกคนที่ทำหน้าที่จะเอาการกล่าวอ้างมาเป็นประเด็นไม่ได้ ส่วนตัวเมื่อมีเรื่องก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ จนกว่าศาลจะตัดสิน ส่วนความกังวลของนักลงทุนก็มีความเชื่อโยงถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เรื่องของโครงสร้างก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเพื่อการลงทุน 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2567 กลับมาเป็นบวกที่กว่า 3% หลังติดลบต่อเนื่องมา 18 เดือนติด โดยปัจจัยมาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องปรับอากาศและปิโตรเคมีที่เป็นบวก แต่กลุ่มยานยนต์ยังคงติดลบ  

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในภาพรวมก็ยังมีปัญหาทั้งภายในประเทศเองและภายนอกประเทศ อีกทั้งมูลค่าอุตสาหกรรมที่ยังต่ำ แม้สินค้าจะยังพอขายได้แต่มูลค่าไม่สูง ทั้งนี้ มองว่าอุตสาหกรรมที่จะไปได้ดีในอนาคตอย่างเห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แต่ปัจจุบันยังไปไม่ได้หมด ส่วนอุตสาหกรรมเกษตรก็ยังคงเป็นไปตามฤดูกาล

"การส่งเสริมในด้านของการทำชิ้นส่วนอีวีนั้น ต้องยอมรับว่าปริมาณการผลิตยังไม่เยอะ สิ่งที่คิดคือที่นำเข้ามา 7 หมื่นคัน โดยปีนี้ต้องผลิตตามสัดส่วนที่รับการสนับสนุนมาตรการอีวี3.0 ในเบื่องต้น 7 หมื่นคัน ซึ่งจะต้องหาตลาดด้วย"  

นางวรวรรณ กล่าวว่า สศอ.ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยของบสนับสนุนราว 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย รวมถึงผู้ประกอบการว่าถ้ามีเงินเข้ามาแล้วจะเอาไปทำอะไร สิ่งที่พบ คือผู้ประกอบการก็ยังไม่รู้ว่าควรจะปรับปรุงและพัฒนาตรงไหนก่อน 

อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดงาน SUBCON Thailand 2024 ระหว่างวันที่ 15-18 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการจับคู่ธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เพราะสนับสนุนซัพพลายเชน ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มที่จะรู้กลุ่มอุตสาหกรรมและความต้องการมากขึ้น โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังกินบุญเก่า บางกลุ่มสามารถปรับไปสู่อุตสาหกรรมใหม่เพื่อรับความต้องการของตลาดใหม่ 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมประเทศของไทยนั้นเก่ามาก ไม่สอดคล้องกับความต้องการของโลก ยกตัวอย่างการปรับโครงสร้างเอส-เคิร์ฟ (S-Curve) ตอนนี้หมดเสน่ห์ไปแล้ว แต่ที่ไปได้ดีคืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง อีกส่วนสำคัญคือ การสนับสนุนด้านเซอร์คูลาร์อีโคโนมี (Circular Economy) หรือแนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่ซึ่งจะไปได้ดี และตอบโจทย์โลกด้วย เพราะรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายที่ชัดเจน 

"ยอมรับว่าสิ่งที่มองไม่ออกตอนนี้คือ นโยบายรัฐบาลที่เป้าหมายยังไม่ชัดเจน ทำแต่ในเฉพาะกลุ่มไม่ได้เป็นมหาภาค ภาคแรงงานก็ไม่รองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ล่าสุด สศอ. ได้ร่วมมือกับภาคอาชีวะศึกษาออกแบบหลักสูตรให้ ซึ่งต้องยอมรับว่าหน้าที่เราทำได้แค่นี้เพราะไม่มีงบประมาณ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ต้องไปด้วยกันทั้งหมด ตอนนี้หน่วยงานสนับสนุนหลักคือบีโอไอ ในรูปแบบขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีทุนพัฒนา"