'พิมพ์ภัทรา' เร่งเครื่องกระทรวงอุตสาหกรรม ลุยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยตีตลาดโลก

'พิมพ์ภัทรา' เร่งเครื่องกระทรวงอุตสาหกรรม ลุยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยตีตลาดโลก

"พิมพ์ภัทรา" เร่งเครื่องกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเต็มสูบ มอบนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’  หนุนอุตฯ กระตุ้นเศรษฐกิจไทยตอบโจทย์ตลาดโลก คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบประชาชนเป็นสำคัญ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนามอบนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ว่า ช่วงเวลากว่า 8 เดือน จากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ามาขับเคลื่อนงานของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมมอบนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง”

เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้ในการเร่งรัดสนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ พร้อมสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยมีเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่คู่กับประชาชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

\'พิมพ์ภัทรา\' เร่งเครื่องกระทรวงอุตสาหกรรม ลุยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยตีตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม การดำเนินภารกิจให้สำเร็จต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนเกิดผลอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย

รื้อ ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

ลด ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งระบบตั้งแต่ก่อนการอนุญาตไปจนถึงการกำกับดูแลและการปราบปรามผู้กระทำความผิด

ปลด ภาระให้ผู้ประกอบการโดยปรับลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการ และ

สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก พร้อมสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างบูรณาการ

ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นและตั้งใจปฏิบัติงานส่งผลให้หลายเรื่องเริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากผลงานสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งในระดับภาพรวมและในเชิงพื้นที่ อาทิ การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน ยกเลิกการยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็น การแก้ไขกฎหมายโรงงาน เพื่อปลดล็อคเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) การกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย 

นอกจากนี้ ยังได้เข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคต สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เร่งผลักดันให้สินค้าและบริการฮาลาลไทยเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดโลกได้มากขึ้น ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ทั้งซัพพลายเชนครบวงจร พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อให้มีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่าน SME D Bank และกองทุนฯ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม

\'พิมพ์ภัทรา\' เร่งเครื่องกระทรวงอุตสาหกรรม ลุยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยตีตลาดโลก

ผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทชพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยภายในประเทศ การช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แก้ปัญหา PM 2.5 จากการเผาอ้อย การสนับสนุนพลังงานสะอาด และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเน้นการพัฒนานิคมฯ Smart Park เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เดินหน้าสู่อนาคตที่ดีขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผลักดันโครงการใหม่ ๆ เช่น การขับเคลื่อน Green Productivity เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัย มาใช้พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ การจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่ EEC มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน

การเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยจากแร่โพแทช ส่งเสริมการใช้แร่ลิเทียมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมโกโก้ ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมเกษตรไทย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องปรับสู่การเป็นหน่วยงานที่ “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เจ้าหน้าที่ อก. ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้ในทุกเรื่องอย่างทันท่วงที ตลอดจนขจัดอุปสรรคต่างๆ เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด การผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องผังเมือง โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เราต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ครอบคลุมมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเชิงพื้นที่จึงเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญสูง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่และนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป