'ไฮสปีดสามสนามบิน' ปิดดีลแก้สัญญา ตั้งเป้าสร้างปีนี้

'ไฮสปีดสามสนามบิน'  ปิดดีลแก้สัญญา ตั้งเป้าสร้างปีนี้

การรถไฟฯ เปิด 4 เงื่อนไข แก้สัญญาร่วมลงทุน “ซีพี” เดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตั้งเป้าลงนามปลายปีนี้ พร้อมส่งมอบพื้นที่ 100% เริ่มงานก่อสร้างทันที

KEY

POINTS

  • "ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน" มหากาพย์เอกชนร่วมลงทุนรัฐ เจรจายาวนาน 6 ปี นับจากวันเริ่มประมูลในปี 2561 
  • การรถไฟฯ เสนอบอร์ดรับทราบผลเจรจาล่าสุด เปิด 4 เงื่อนไข "แก้สัญญาร่วมลงทุน" 
  • ชี้ภาครัฐต้องไม่เสียประโยชน์เกินกรอบสัญญา หลังปรับเงื่อนไขอุดหนุนโครงการเป็น "สร้างไปจ่ายไป" จี้เอกชนเร่งหา "แบงก์การันตี" เพิ่มกว่า 1 แสนล้านบาท
  • ตัดเงื่อนไขรับบัตรส่งเสริมการลงทุน "บีโอไอ" เพื่อเร่งออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างทันที หลังแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จ ยันก่อสร้างได้ปีนี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) นับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ไม่เพียงมูลค่าโครงการที่สูงระดับ 2 แสนล้านบาท แต่ยังเป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลาเจรจารายละเอียดในสัญญา และเตรียมความพร้อมดำเนินงานเป็นเวลานาน 6 ปี นับจากเริ่มต้นเปิดประมูลในปี 2561

โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดรับซองข้อเสนอเอกชนเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2561 พบว่ามีเอกชนยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย 

1.กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอเอกชนราว 1 เดือน หลังจากนั้นวันที่ 11 ธ.ค.2561 ได้เปิดซอง 3 (ข้อเสนอด้านการเงิน) ผลปรากฎว่าข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยต่ำกว่าเกณฑ์ข้อกำหนดตามเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ส่วนของเงินอุดหนุนรัฐตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ไม่เกิน 1.19 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาของการพิจารณาข้อเสนอเอกชนนั้น มีหลากหลายประเด็นที่ต้องใช้เวลาเจรจาร่วมกัน อาทิ ข้อเสนอซอง 4 (ข้อเสนอพิเศษ) การขอขยายเวลาอายุสัมปทานจาก 50 ปี ออกไปอีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี การขอให้ภาครัฐสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ขอให้ภาครัฐจ่ายเงินร่วมลงทุนตั้งแต่ปีที่ 1 จากที่กำหนดจ่ายเมื่อเดินรถ และการขอชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในปีที่ 2-11 ของโครงการ จากที่กำหนดให้ชำระภายใน 2 ปี เป็นต้น

ขณะเดียวกันจากข้อเสนอพิเศษที่หลากหลายของเอกชน ส่งผลให้การเจรจาระหว่างรัฐและเอกชนใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 1 ปี ก่อนจะมาสิ้นสุดการเจรจานัดสุดท้ายในวันที่ 11 ก.ย.2562 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 เวลา 13.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) พร้อมกำหนดให้ ร.ฟ.ท.ออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง หรือ Notice to Proceed (NTP) เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปีตามสัญญา

ขณะที่การดำเนินโครงการกำลังจะเริ่มต้นตอกเสาเข็ม รถไฟความเร็วสูงสายนี้ต้องเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน เป็นผลให้เอกชนยื่นข้อเสนอขอรับการเยียวยาจากภาครัฐ และนำมาสู่การเจรจาแก้ไขรายละเอียดของสัญญาร่วมลงทุนในขณะนี้

โดยล่าสุดการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่  23 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบ เรื่องหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องแก้ไขรายละเอียดในสัญญา โดยยืนยันว่าคงยึดหลักการภาครัฐต้องไม่เสียผลประโยชน์เกินกรอบสัญญา ส่วนภาคเอกชนต้องไม่ได้รับผลประโยชน์เกินควร 

สำหรับรายละเอียดของการแก้ไข “สัญญาร่วมลงทุน” ในครั้งนี้ จะมี 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

1. ให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

จากสัญญาเดิมให้ชำระงวดเดียววงเงิน 10,671 ล้านบาท ปรับเป็นให้เอกชนผ่อนจ่าย 7 งวด แบ่งเป็น งวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% ของวงเงินทั้งหมด และงวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยภาครัฐจะยังคงได้รับวงเงินค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสอีก 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท

2. ให้ภาครัฐเร่งจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ (PIC) วงเงิน 119,425 ล้านบาท

จากสัญญาเดิมภาครัฐจะร่วมลงทุนวงเงินส่วนนี้เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดเดินรถแล้ว จะปรับเป็นภาครัฐร่วมลงทุนให้เร็วขึ้น จ่ายก่อนกำหนดในงวดที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสืออนุญาติเข้าพื้นที่ (NTP) ถือเป็นการปรับเงื่อนไขรับเงินอุดหนุนจากรัฐในรูปแบบสร้างไปจ่ายไป

3. ให้เอกชนวางหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติมในวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

เนื่องจากมีการปรับเงื่อนไขสัญญาให้ภาครัฐเร่งจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการเร็วขึ้นจากเดิมสร้างเสร็จจ่าย เป็นสร้างไปจ่ายไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้รัฐรับความเสี่ยงและการันตีได้ว่าเอกชนรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐไปแล้วจะยังคงดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อเนื่อง จึงมีข้อตกลงร่วมกันให้เอกชนจัดหาวางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันทางการเงิน หรือแบงก์การันตี เพิ่มขึ้นในกรอบวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าที่รัฐร่วมลงทุน และค่าบริหารสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยเอกชนจะต้องวางแบงก์การันตีภายใน 270 วันหลังลงนามแก้ไขสัญญา

4. ตัดเงื่อนไขรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อเร่งออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed)

จากสัญญาเดิมกำหนดว่า ร.ฟ.ท.จะออกหนังสือ NTP ได้ต่อเมื่อทางเอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริม BOI แต่ในขณะนี้เห็นว่าเอกชนไม่สามารถออกบัตรส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวได้ จึงมีการเจรจาตัดเงื่อนไขรับบัตรส่งเสริม BOI ออกไป ซึ่งจะทำให้ ร.ฟ.ท.สามารถออกหนังสือ NTP และเอกชนเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างได้ โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ 100% หากมีการแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จภายในปีนี้ มั่นใจว่าจะเร่งรัดออก NTP ในปีนี้ และเริ่มก่อสร้างทันที