จับตาบอร์ดการรถไฟฯ วันนี้ ! เคาะปมแก้สัญญา 'ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน'

จับตาบอร์ดการรถไฟฯ วันนี้ ! เคาะปมแก้สัญญา 'ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน'

จับตาบอร์ดการรถไฟฯ วันนี้ ! สางปัญหา “ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน” เคาะแก้สัญญากลุ่มซีพี ตัดเงื่อนไขรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หวังส่งมอบพื้นที่ และเริ่มงานก่อสร้างในปีนี้

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันนี้ (23 พ.ค. 2567) จะมีการนำเสนอวาระเพื่อทราบ เรื่องหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน

โดยการเสนอวาระครั้งนี้ สืบเนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นคู่สัญญาในโครงการดังกล่าวได้หารือร่วมกับถึงแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นกำหนดสิ้นสุดที่เอกชนได้รับการขยายเวลาจากบีโอไอครั้งที่ 3 ดังนั้น หากไม่หาทางออกเพื่อแก้ปัญหาจะส่งผลกระทบต่อโครงการ

เนื่องจากเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการนี้ ระบุไว้ว่า ร.ฟ.ท.จะสามารถออกหนังสืออนุญาติเข้าพื้นที่ (NTP) ได้ต่อเมื่อทางเอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดังนั้นเมื่อเอกชนไม่สามารถออกบัตรส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง ในขณะนี้สถานการณ์ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรื่องการจัดหาสิทธิประโยชน์อาจยังไม่ใช่เรื่องแรกที่ต้องดำเนินการ เพราะหากโครงการยังไม่สามารถเริ่มเดินหน้าการลงทุนได้ แม้เอกชนจะได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขก็ไม่สามารถลงทุนให้เกิดขึ้นจริง ดังนั้นขณะนี้เมื่อโครงการมีความพร้อมให้เกิดการลงทุนแล้ว ทั้งสองฝ่ายจึงมองว่าแนวทางออกที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า คือ ตัดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ BOI ออกไป เพื่อให้สามารถออก NTP และเริ่มการก่อสร้างโครงการ

ขณะเดียวกัน หากตัดเรื่องสิทธิประโยชน์ BOI ออกไป และทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถลงนามแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้ ก็จะมีผลทำให้กลุ่มซีพีมีสิทธิ 100% ในการเข้าบริหารโครงการรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถลงทุนปรับปรุงและบริหารกิจการได้ตามแผนงานกำหนดไว้ รวมทั้งทางกลุ่มซีพียังมีข้อตกลงในการลงทุนสร้างพื้นที่ทับซ้อนโครงการรถไฟไทยจีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ซึ่งมีวงเงินลงทุนราว 9 พันล้านบาท โดยจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และเกิดประโยชน์โดยรัฐไม่ต้องเสียงบประมาณ

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะนำประเด็นการหารือในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เสนอเข้าสู่บอร์ด ร.ฟ.ท.ในวันนี้ (23 พ.ค.) หากได้รับการพิจารณาอนุมัติ ก็จะดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และคาดว่าจะสามารถออกหนังสือ NTP เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างโครงการได้ภายในปี 2567