หมูขึ้นราคา 12 บาท ตามกลไกตลาด ย้ำยังต่ำกว่าต้นทุนผลิต

หมูขึ้นราคา 12 บาท ตามกลไกตลาด  ย้ำยังต่ำกว่าต้นทุนผลิต

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยืนยัน การปรับราคาสุกรหน้าฟาร์มเป็นการทยอยปรับตามอุปสงค์-อุปทาน ไม่ได้ปรับครั้งเดียว 12 บาทต่อกิโลกรัม และเกษตรกรยังขายสุกรได้ต่ำกว่าราคาต้นทุน หลังแบกภาระขาดทุนสะสมมานานกว่า 1 ปีแล้ว

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่มีการลงพื้นที่สำรวจตลาดและแจ้งว่ามีการปรับราคาหมูหน้าฟาร์มทั้งตัวขึ้น 12 บาทต่อกิโลกรัมและมีผลต่อราคาเนื้อหมูในตลาดสดต้องปรับสูงขึ้นนั้น เป็นการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากราคาดังกล่าวเป็นการทยอยปรับเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ไม่ใช่การปรับครั้งเดียว ที่สำคัญราคาขายปลีกเนื้อสันในราคาสูง250 บาทต่อกิโลกรัม เพราะสันในเป็นเนื้อส่วนที่มีเพียงชิ้นเดียวในหมู 1 ตัว ราคาจึงสูงเมื่อเทียบกับชิ้นส่วนอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า

  หมูขึ้นราคา 12 บาท ตามกลไกตลาด  ย้ำยังต่ำกว่าต้นทุนผลิต

“สมาคมฯ ดูแลทั้งผู้บริโภคและเขียงหมู ไม่ได้ปล่อยปละละเลย และพยายามทำทุกวิถีทางให้ทุกภาคส่วนได้รับราคาที่เป็นธรรม ทั้งที่ผู้เลี้ยงยังไม่สามารถขายหมูหน้าฟาร์มได้ตามราคาแนะนำ ซ้ำร้ายยังมีภาระขาดทุนสะสมนานกว่า 1 ปี จนเกษตรกรหลายรายต้องทิ้งอาชีพไปเพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียน” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมฯ ประกาศราคาแนะนำสุกรหน้าฟาร์ม เป็นประจำทุกๆ วันพระ ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา มีการปรับราคาขึ้น 4 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70-75 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้จริงเพียง 65 บาทเท่านั้นขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรตามประกาศของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คือ 78-80 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจึงยังอยู่ในภาวะขาดทุนสูง

  หมูขึ้นราคา 12 บาท ตามกลไกตลาด  ย้ำยังต่ำกว่าต้นทุนผลิต

ราคาหมูหน้าฟาร์มดังกล่าว จะทำให้ราคาขายปลีกชิ้นส่วนต่างๆ ต่อกิโลกรัม เช่น หมูเนื้อแดง ไม่ควรเกิน 150บาท หมูสามชั้นและหมูสันนอก 170-180 บาท หมูสันในประมาณ 180 บาท ส่วนสะโพกและหัวไหล่เฉลี่ย 115-125บาท อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกยังมีระบบการค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคอีสาน จะขายหมูตรงจากฟาร์มให้กับเขียงหมู ราคาเนื้อหมูอาจต่ำกว่าบางพื้นที่ ที่เขียงหมูต้องซื้อผ่านโบรกเกอร์

นายสิทธิพันธ์ ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลราคาและระบบการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้ค้า ขณะเดียวกันต้องดูแลเกษตรกรให้ได้รับราคาที่เหมาะสมด้วย หากภาคการผลิตอยู่ในภาวะที่ขาดทุนต่อเนื่องและถูกกดราคา ผู้เลี้ยงก็ไปไม่รอด จึงควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานสร้างสมดุลราคา และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยมีเนื้อหมูบริโภคโดยไม่ขาดแคลนและในราคาสมเหตุผล