อุ้มไม่อุ้ม 'ดีเซล'

อุ้มไม่อุ้ม 'ดีเซล'

ช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวน รัฐบาลรับมือโดยการใช้มาตรการลดภาษี "ดีเซล" ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 14 เม.ย. 2567 ติดลบ 103,620 ล้านบาท

มีการประเมินว่าถ้าสงครามรุนแรงจนถึงขั้นอิหร่านต้องปิดช่องแคบฮอร์มุซ กระทบต่อการขนส่งน้ำมัน อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปจนถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ซึ่งเชื้อเพลิงหลักของประเทศไทยมีการนำเข้ามาทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์

โดยปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 57% และในส่วนของ LNG นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 33% ว่ากันว่าปัจจุบันไทยมีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบเฉลี่ย 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วันน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) ใช้ในภาคครัวเรือน 21 วัน 

ช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวน รัฐบาลได้ใช้มาตรการรับมือราคาน้ำมันดีเซล ด้วยการลดภาษีดีเซล 1 บาทเพื่อชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่กว่า 4 บาทต่อลิตร คิดเป็นจำนวนเงินที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 14 เม.ย. 2567 ติดลบ 103,620 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 56,407 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,213 ล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุด 19 เม.ย. 2567

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567  โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกยังคงตัวอยู่ระดับสูง 104.03 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (เฉลี่ยวันที่ 1 - 20 มี.ค. 2567) เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศสอดคล้องกับราคาตลาดโลกมากขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป

ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะพิจารณาขยายเวลาปรับลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. 2567 ออกไปอีก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน และภาคธุรกิจช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือไม่

โดยว่ากันว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (18 เม.ย. 2567) จะมีการขออนุมัติต่อมาตรการลดภาษีดีเซล ซึ่งไม่ว่าจะลดกี่บาท ก็จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือการอนุมัติงบประมาณกลางเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ เพื่ออุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม ลดการชดเชยราคาดีเซล เพื่อเพิ่มเพดานราคาให้สูงเกินลิตรละ 30 บาท โดยทยอยปรับขึ้นตามกลไกตลาดเป็นลิตรละ 31-32 บาท หรือขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ จากที่ได้รับอนุมัติวงเงินไม่เกิน 150,000 ล้านบาท เพื่อชำระให้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 และจ่ายดอกเบี้ยธนาคารรัฐ 3 แห่งเดือนละ 200-250 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามไม่ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาบริหารจัดการ ซึ่งก็จะอยู่บนพื้นฐานการนำเงินในอนาคตมาใช้ และต้องเป็นภาระงบประมาณที่ต้องจัดเก็บรายได้มาใช้คืนในอนาคต ดังนั้นการตัดสินใจดำเนินการใดๆ จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและมีมาตรการอย่างเข้มข้นต่อเนื่องเพื่อรักษาความมั่นคงทางการคลังของประเทศ