'เศรษฐา' จี้ลด 'ดอกเบี้ย' หนุนเศรษฐกิจ เตือน 'ธปท.' อิสระ แต่ประชาชนเดือนร้อน

'เศรษฐา' จี้ลด 'ดอกเบี้ย' หนุนเศรษฐกิจ เตือน 'ธปท.' อิสระ แต่ประชาชนเดือนร้อน

“นายกฯ” แนะ ธปท.ดูผลกระทบของประชาชน หลัง กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% ชี้ เป็นองค์กรอิสระได้แต่ต้องคำนึงความลำบากของประชาชน ยืนยันลดดอกเบี้ยส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคง ส.อ.ท.เผยผลสำรวจ ระบุ ดอกเบี้ยปัจจัยกระทบธุรกิจอันดับ 1

KEY

POINTS

  • นายกฯ แนะ ธปท.ดูผลกระทบของประชาชน หลัง กนง.คงดอกเบี้ย 2.5%
  • ชี้แม้จะเป็นองค์กร ที่ต้องมีความอิสระแต่ก็ต้องคำนึงความลำบากของประชาชน
  • นายกฯยืนยันลดดอกเบี้ยส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคงดอกเบี้ย 
  • ส.อ.ท.เผยผลสำรวจ อัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยลบกระทบธุรกิจอันดับ 1

“นายกฯ” แนะ ธปท.ดูผลกระทบของประชาชน หลัง กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% ชี้ เป็นองค์กรอิสระได้แต่ต้องคำนึงความลำบากของประชาชน ยืนยันลดดอกเบี้ยส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคง ส.อ.ท.เผยผลสำรวจ ระบุ ดอกเบี้ยปัจจัยกระทบธุรกิจอันดับ 1

ในช่วงที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ส่งสัญญาณถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาอย่างต่อเนื่องผ่านการให้สัมภาษณ์และการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 2.50%

รวมถึงล่าสุดก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 1 วัน นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นย้ำอีกครั้งว่า ต้องการให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และควรลดลงในอัตรา 0.5% เพราะมีการอั้นมานาน แต่การประชุม กนง.วันที่ 10 เม.ย.2567 มีมติ 5:2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5%

การคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว กนง.ประเมินว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นระดับที่เอื้อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว รวมทั้งได้มองปัจจัยสำคัญให้คงอัตราดอกเบี้ย 4 ปัจจัย ประกอบด้วย

1.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีแรงสนับสนุนต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอตัวลงจากปีก่อน ในขณะที่การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นทั้งจำนวนนักท่อเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน

2.อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่่าจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการภาครัฐ แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้

3.ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ยังขยายตัว ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินตึงตัว

4.อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพในระยะยาว

นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์วันที่ 11 เม.ย.2567 ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจซื้อบ้าน เพราะล่าสุด กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ย และเป็นประเด็นหนึ่งที่กดอัตราการซื้อ จึงคิดว่าจุดยืนของนายกฯ ชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ย

“เดี๋ยวจะหาว่าผมไปกดดันผู้ว่าฯ ธปท.อีก เพราะมีอิสระ แต่ก็ฝากไว้ว่าความเป็นอิสระ มันไม่ได้อิสระจากความลำบากของประชาชน ขอให้นึกถึงความลำบากของประชาชนด้วย วันนี้ผมไม่ได้กดดันอะไรแล้ว แต่ผลที่ออกมาเชื่อว่าประชาชนจะตัดสินเอง ว่าควรจะต้องลดหรือไม่ไม่ต้องลด ขณะเดียวกันนักวิชาการทั้งหมดก็เห็นด้วยในการลดอัตราดอกเบี้ย” นายเศรษฐา กล่าว

นอกจากนี้ ในประเด็นเมื่อลดอัตราดอกเบี้ยแล้วเชื่อว่าผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจจะเป็นบวกมากกว่าลบ ไม่ว่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยดีขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 60% ของจีดีพี 

รวมถึงส่งผลต่อต่อภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 20% ของจีดีพี ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่าลงจะทำให้เงิน 1 ดอลลาร์ สามารถแลกได้ 36-38 บาท จะส่งผลต่อเงินที่จับจ่ายใช้สอยในประเทศ 

\'เศรษฐา\' จี้ลด \'ดอกเบี้ย\' หนุนเศรษฐกิจ เตือน \'ธปท.\' อิสระ แต่ประชาชนเดือนร้อน

“นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้อยู่แต่โรงแรมใหญ่ๆหรือเอื้อแต่เจ้าสัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการช้อปปิ้ง รับประทานอาหาร ทุกคนได้ประโยชน์ ผมชื่อว่าเป็นเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ทุกคนทราบดี ผมไม่รู้จะพูดอย่างไรต่อไป เพราะผมพูดมาเยอะแล้ว และพูดมาพอแล้วก็เป็นหน้าที่ให้คนอื่นพูดบ้าง” นายเศรษฐา กล่าว

 

ชี้มาตรการอสังหาฯ หนุนเศรษฐกิจ

นายเศรษฐา กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อนายทุน ว่า ประเด็นการลงทุนต้องพิจารณาให้ครบด้าน โดยหลายรัฐบาลที่ผ่านมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบได้เพราะผ่านหลายขั้นตอนมาแล้วจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการได้รับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สำหรับการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ในกรณีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม โดยถ้ามีผู้ซื้อบ้าน 1 หลัง จะมีค่าใช้จ่ายครอบคลุมวัสดุตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะเกิดเงินหมุนเวียนในหลายอุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ที่พักอาศัยก็ถือเป็นการออมอย่างหนึ่ง และไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่คนที่จะสร้างบ้านเอง ก็มีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

“ดอกเบี้ย”ปัจจัยกระทบธุรกิจอันดับ 1

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,336 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ในเดือน มี.ค.2567 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นและมีความกังวลในระดับที่สูงที่สุด คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 75.0% โดยสะท้อนถึงการที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ในขณะที่ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 92.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.0 ในเดือน ก.พ.2567 พบว่า ยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรี และการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า