เปิดสถิติ 'เรือยอร์ช' ปักหมุดภูเก็ต สะท้อนการท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่

เปิดสถิติ 'เรือยอร์ช' ปักหมุดภูเก็ต สะท้อนการท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่

“คมนาคม” เปิดสถิติเรือยอร์ชเข้า – ออกในภูเก็ต พบแนวโน้มพุ่งต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2566 เพิ่มสูงถึง 159 ลำ สั่งกรมเจ้าท่าเร่งศึกษาเปิดพีพีพีพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่รับเทรนด์การท่องเที่ยว ครอบคลุมเส้นทางฝั่งอ่าวไทย – อันดามัน เชื่อมสิงคโปร์ – ฮ่องกง

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” เปิดสถิติเรือยอร์ชเข้า – ออกในภูเก็ต พบแนวโน้มพุ่งต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2566 เพิ่มสูงถึง 159 ลำ
  • กรมเจ้าท่าเร่งศึกษาเปิดพีพีพีพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่รับเทรนด์การท่องเที่ยว คาดแห่งแรกท่าเรือสมุย วงเงินลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
  • จ่อเปิด 2 เส้นทางเดินเรือ ครอบคลุมงฝั่งอ่าวไทย – อันดามัน เชื่อมสิงคโปร์ – ฮ่องกง

“คมนาคม” เปิดสถิติเรือยอร์ชเข้า – ออกในภูเก็ต พบแนวโน้มพุ่งต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2566 เพิ่มสูงถึง 159 ลำ สั่งกรมเจ้าท่าเร่งศึกษาเปิดพีพีพีพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่รับเทรนด์การท่องเที่ยว ครอบคลุมเส้นทางฝั่งอ่าวไทย – อันดามัน เชื่อมสิงคโปร์ – ฮ่องกง

กระทรวงคมนาคมเปิดสถิติเรือยอร์ชที่มีความยาวเกินกว่า 24 เมตร หรือมากกว่า 80 ฟุต เข้า – ออกในจังหวัดภูเก็ต พบว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางด้วยสายการเดินเรือ เป็นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงแนวเส้นทางหลายประเทศ และหนึ่งในจุดหมายปลายทาง คือ จังหวัดภูเก็ต

โดยสถิติในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

- จำนวนเรือขาเข้า ปี 2562 จำนวน 164 ลำ

- จำนวนเรือขาออก ปี 2562 จำนวน 173 ลำ

- จำนวนเรือขาเข้า ปี 2563 จำนวน 85 ลำ

- จำนวนเรือขาออก ปี 2563 จำนวน 97 ลำ

- จำนวนเรือขาเข้า ปี 2564 จำนวน 41 ลำ

- จำนวนเรือขาออก ปี 2564 จำนวน 38 ลำ

- จำนวนเรือขาเข้า ปี 2565 จำนวน 117 ลำ

- จำนวนเรือขาออก ปี 2565 จำนวน 99 ลำ

- จำนวนเรือขาเข้า ปี 2566 จำนวน 148 ลำ

- จำนวนเรือขาออก ปี 2566 จำนวน 159 ลำ

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า เพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือยอร์ชที่เข้ามาใช้บริการในราชอาณาจักร กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า จัดทำข้อมูลเรื่องการดำเนินการรองรับนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตที่เดินทางโดยเรือสำราญ Yacht/Super Yacht รวมทั้งศึกษาความจำเป็นของขั้นตอนแนวทางการปฏิบัติและระยะเวลาการขออนุญาตตามกฎหมาย กรณีการนำเรือ Super Yacht เข้ามาในประเทศไทย เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการขออนุญาตให้มีความรวดเร็ว และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ให้เร่งรัดพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ตามนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างวางแผนพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แบ่งเป็น

ฝั่งอ่าวไทย

รองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยจอดที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

ฝั่งอันดามัน

รองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ แวะเข้าจอดที่เกาะภูเก็ต และจังหวัดกระบี่

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง และบริเวณฝั่งอันดามันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มค่า รูปแบบการลงทุนพัฒนารวมถึงวิเคราะห์การดำเนินการตามแนวทาง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือฯ อำเภอเกาะสมุย ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ โดยจากผลการศึกษาคาดว่าโครงการจะมีมูลค่าลงทุนอยู่ที่ 12,865 ล้านบาท โดยภาครัฐจะลงทุนมูลค่า 6,201 ล้านบาท สถานะโครงการปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณาภายในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อเริ่มขั้นตอนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในเดือน ต.ค.2567 และมีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2575