เปิดแผนพัฒนาถนน 'ริเวียร่า' ดันเส้นทางท่องเที่ยวทั่วไทย

เปิดแผนพัฒนาถนน 'ริเวียร่า'  ดันเส้นทางท่องเที่ยวทั่วไทย

"กรมทางหลวงชนบท" เปิดแผนลงทุน "ถนนริเวียร่า" ขยายต่อเนื่องครอบคลุมภาคใต้ - เหนือ - อีสาน - ตะวันออก เร่งเครื่องจัดงบศึกษาความเหมาะสมในปีนี้ มั่นใจหนุนการเดินทาง ขนส่ง และภาคท่องเที่ยว

KEY

POINTS

  • "กรมทางหลวงชนบท" เปิดแผนลงทุน "ถนนริเวียร่า" หลังประสบความสำเร็จเพิ่มปริมาณจราจร 111% หรือเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว
  • เล็งขยายต่อเนื่องครอบคลุมภาคใต้ - เหนือ - อีสาน - ตะวันออก เร่งเครื่องจัดงบศึกษาความเหมาะสมในปีนี้
  • มั่นใจเป็นโครงข่ายทางถนน หนุนการเดินทาง ขนส่ง และภาคท่องเที่ยว

"กรมทางหลวงชนบท" เปิดแผนลงทุน "ถนนริเวียร่า" ขยายต่อเนื่องครอบคลุมภาคใต้ - เหนือ - อีสาน - ตะวันออก เร่งเครื่องจัดงบศึกษาความเหมาะสมในปีนี้ มั่นใจหนุนการเดินทาง ขนส่ง และภาคท่องเที่ยว

โครงการพัฒนาถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (ไทยแลนด์ริเวียร่า) นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการพัฒนาโครงข่ายทางถนนที่นอกจากจะเพิ่มเส้นทางการเดินทางด้านคมนาคมให้กับประชาชนแล้ว ยังส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวจากการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอย่างสะดวก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงข่ายสายทางถนนไทยแลนด์ริเวียร่า ทยอยแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้วในระยะที่ 1 ช่วงสมุทรสงคราม - ชุมพร โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เก็บสถิติข้อมูลปริมาณจราจร (PCU) พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจรในถนนสายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2567 คิดเป็น 111% หรือเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว

สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างถนนไทยแลนด์ริเวียร่าในแนวเส้นทางภาคใต้ แบ่งเป็น

ระยะที่ 1 ช่วงสมุทรสงคราม – ชุมพร มีระยะทาง 658 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของ ทช. มีจำนวนทั้งสิ้น 43 สายทาง ระยะทาง 514 กิโลเมตร ปัจจุบันสถานะโครงการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 42 สายทาง คิดเป็นระยะทางทั้งหมด 507 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 สายทาง ระยะทาง 6.753 กิโลเมตร

ระยะที่ 2 ช่วงชุมพร – สงขลา มีระยะทางรวม 544 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของ ทช. ประมาณ 145 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยแบ่งเป็นการขยายความกว้างผิวจราจร 25 สายทาง และการปรับปรุงผิวจราจร 41 สายทาง

ระยะที่ 3 ช่วงเลียบชายเขาฝั่งทะเลอ่าวไทย และช่วงเลียบเทือกเขาตะนาวศรี ระยะทางรวมกว่า 433 กิโลเมตร ซึ่งจะมีการทยอยเสนอของบประมาณดำเนินการในปี 2568 – 2572 รวมวงเงินกว่า 7 พันล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อขยายโครงข่ายทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับผลักดันการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) ทช.มีแผนพัฒนาเส้นทางเพิ่มเติมในพื้นที่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ประกอบด้วย

ภาคเหนือ : เส้นทางสายบุปผชาติคีรีธาร (จ.เชียงใหม่ – จ.แม่ฮ่องสอน)

ระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร

สถานะปัจจุบัน : อยู่ระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

จัดใช้งบประมาณปี 2568 - 2569 เพื่อศึกษาราว 26 ล้านบาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เส้นทางสายนาคาวิถี (จ.เลย – จ.หนองคาย – จ.บึงกาฬ – จ.นครพนม – จ.มุกดาหาร - จ.อำนาจเจริญ – จ.อุบลราชธานี)

ระยะทางประมาณ 780 กิโลเมตร

สถานะปัจจุบัน : จะนำร่องก่อสร้างช่วงสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 - พระธาตุพนม อ.เมือง, ธาตุพนม จ.มุกดาหาร, นครพนม ระยะทาง 42 กิโลเมตร

จัดใช้งบประมาณปี 2567 -2569 เพื่อดำเนินการก่อสร้างราว 615 ล้านบาท

ภาคตะวันออก : เส้นทางสายเฉลิมบูรพาชลทิศ (ดำเนินการแล้วเสร็จ) และบูรพาคีรี

สถานะปัจจุบัน : อยู่ระหว่างรอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้เส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายเขา (บูรพาคีรี) ช่วง จ.นครนายก - จ.ปราจีนบุรี - จ.สระแก้ว

จัดใช้งบประมาณปี 2567 เพื่อศึกษาความเหมาะสมราว 17.5 ล้านบาท