‘สศช.‘ - ‘ธปท.’เตือนกระตุ้น ’อสังหาฯ’ ต้องดูความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้

‘สศช.‘ - ‘ธปท.’เตือนกระตุ้น ’อสังหาฯ’ ต้องดูความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้

เปิดความเห็น ธปท. - สศช.มองมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ต้องพิจารณาการปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ และความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้ ป้องกันการสร้างความเสียหาย ผ่อนชำระไม่ไหวในระยะยาว

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพื่อเตรียมการรองรับการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลในปี 2567 โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์โดยคาดว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.7 - 1.8%

โดยชุดมาตรการนี้มีมาตรการย่อยกว่า 7 มาตรการ นอกจากการลดค่าจดทะเบียนโอนและจดจำนองให้บ้านที่ราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท รวมทั้งการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ที่ปลูกบ้านหลังใหม่ นอกจากนั้นยังมีมาตรการสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) และธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนพิเศษเพื่อช่วยให้การตัดสินใจซื้อบ้านง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามความเห็นของหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) เห็นตรงกันในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงต้องทำอย่างรอบคอบและคำนึงถึงความสามารถในการชำระเงินของผู้กู้

โดย สศช.ระบุว่าเกี่ยวกับมาตรการนี้ สศช.เห็นควรรับทราบหลักการของการสนับสนุนการมีบ้านของผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางภายใต้โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life ของธอส.และการส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ อย่างไรก็ดี เห็นควรให้ ธอส. ดำเนินการโดยให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระคืนสินเชื่อของลูกหนี้ในระยะยาว และปฏิบัติตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ Responsible Lending ต่อไปด้วย

สศช.แนะลดแรงกดดันเสถียรภาพการคลัง 

ส่วนมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวกับการกระตุ้นภาอสังหาริมทรัพย์ สศช.พิจารณาแล้ว มีความเห็น ว่ามาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2567 และมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่. ..(พ.ศ. .)  ....ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กระทรวงการคลังควรพิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้จากช่องทางอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การปรับปรุงค่าลดหย่อน ทางภาษีของมาตรการอื่นเพื่อลดแรงกดดันต่อเสถียรภาพทางการคลังและอาจพิจารณาปรับลดเพดานมูลค่า ที่อยู่อาศัยในมาตรการดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งควรกำหนดให้มีการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินมาตรการเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ ตลอดจนความสอดคล้องระหว่างอุปสงค์กับอุปทานที่มีอยู่ในตลาด เพื่อนำมาปรับปรุงแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในระยะ 5 ปีแรก และแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ20 ปี เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์จากกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และเห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการของการสนับสนุนการมีบ้านของผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ภายใต้โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ธปท.แนะดูความสามารถในการผ่อนชำระ

ขณะที่ธปท.ให้ความเห็น เรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) โดยธปท. พิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้องต่อมาตรการดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยหลังแรกเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัย

รวมถึงจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมได้ ขณะที่โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การอนุมัติสินเชื่อควรพิจารณาให้สอดคล้องกับศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัวที่อาจกลายเป็นภาระให้กับลูกหนี้และกระทบเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมในอนาคต

จะเห็นได้ว่าแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาแต่หน่วยงานเศรษฐกิจของไทยก็ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องของการปล่อยกู้ และให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ให้สอดคล้องกับศักยภาพในการกู้และความสามารถในการชำระหนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นหนี้ครัวเรือนที่สูงมากของไทยก็อาจจะยังสูงต่อไปแล้วปรับลงมาได้ลำบาก และมีความเสี่ยงที่การขอสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์จะมากเกินไปจนเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม