‘ศิริกัญญา’ มอง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจสตาร์ทเศรษฐกิจไม่ติดอย่างที่คิด

‘ศิริกัญญา’ มอง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจสตาร์ทเศรษฐกิจไม่ติดอย่างที่คิด

“ศิริกัญญา” ชี้รัฐบาลทุ่มหมดหน้าตักเข็นโครงการเรือธงแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต อาจสตาร์ทเศรษฐกิจไม่ติดอย่างที่คิด ทั้งเพิ่มความเสี่ยงการคลัง หนี้สาธารณะพุ่ง คาดเป้าจีดีพีโตเฉลี่ย 5% เป็นไปได้ยาก

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ“ ว่าโครงการ"ดิจิทัลวอลเล็ต"ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเยอะที่สุดเรียกได้ว่าเทหมดหน้าตัก คิดเป็นมูลค่าเกือบ 3% ของจีดีพี ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการเดียวที่รัฐบาลจะมีเม็ดเงินขนาดนี้ที่จะใช้กระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้มากขนาดนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมารัฐบาลประเมินว่าจะอยู่ที่ 1.6% ของจีดีพีเท่านั้น เมื่อเทียบกับคาดการณ์จีดีพีฐานซึ่งอยู่ที่ 3.3% รวมกันแล้วก็ได้แค่ 4.9% ดังนั้นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะทำให้จีดีพีโตเฉลี่ยได้ถึง 5% ก็มองว่าเป็นไปได้น้อยมาก

“ไม่เถียงว่าในเวลานี้เศรษฐกิจอาจต้องการให้มีการกระตุ้นอยู่บ้าง สะท้อนจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก รายได้เกษตรกรที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 รวมถึงยอดขายรถจักรยานยนต์ และรถกระบะที่ติดลบต่อเนื่อง สะท้อนว่าเศรษฐกิจจำเป็นต้องกระตุ้นให้มีกำลังการจับจ่ายใช้สอย“

อย่างไรก็ตามความจำเป็นที่ว่าควรเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว แต่โครงการก็ล่าช้าไปอีก 6 เดือนข้างหน้า จึงไม่ทันกับสถานการณ์ และเมื่อพิจารณาการใช้นโยบายอัดฉัดเงินในระบบ ที่หลายประเทศเคยทำก็พบว่าผลของนโยบายอาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียงช่วงไม่กี่ไตรมาสแรกแล้วกลับมาฟุบลงอย่างรวดเร็ว จึงไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะจุดเศรษฐกิจติด แล้วทำให้เศรษฐกิจไปต่อได้

ต้นทุนที่รัฐต้องจ่าย

นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำให้ช่องว่างทางการคลังลดน้อยลง ด้วยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเป็น 67% อีก 3% ก็จะต็มเพดาน ขณะที่ภาระดอกเบี้ยจ่ายจะพุ่งขึ้นไปถึง 5 แสนล้านบาท ในงบประมาณรายจ่ายปี 2571

นอกจากนี้ หากบริษัทเครดิตเรทติ้งประเมินว่าไทยมีสถานะการคลังที่อ่อนแอ ก็อาจมีการตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปยังต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชน ทั้งนี้มองว่ายังมีเครื่องมืออย่างอื่นอีกมากที่จะมาช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าและฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และได้ผลมากกว่านี้

“ทุกอย่างมีต้นทุน ผลที่จะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายอย่างมือเติบของรัฐบาลก็เหมือนกับหนี้ครัวเรือน ถ้าใช้จ่ายโดยไม่ดูความสามารถในการชำระหนี้ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย สำหรับหนี้รัฐบาลสิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ไม่เหลือพื้นที่ว่างของงบประมาณที่จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการ Upskill Reskill เมื่อไหร่จะได้ทำสิ่งเหล่านี้หากงบประมาณร่อยหลอจากการใช้คืนดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้มาเพื่อทำโครงการ”