โจทย์หิน สายการบินน้องใหม่ ฝ่าวิกฤตขาดแคลนเครื่องบิน

โจทย์หิน สายการบินน้องใหม่ ฝ่าวิกฤตขาดแคลนเครื่องบิน

กพท.เผย 9 สายการบินน้องใหม่เตรียมเปิดให้บริการภายในปีนี้ หลังไฟเขียวใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว ชี้วิกฤตอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาขาดแคลนเครื่องบินและนักบิน กระทบการขยายธุรกิจ เพิ่มความถี่ – เปิดเส้นทางบินใหม่

KEY

POINTS

  • กพท.เผย 9 สายการบินน้องใหม่เตรียมเปิดให้บริการภายในปีนี้ หลังไฟเขียวใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว
  • ชี้วิกฤตอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาขาดแคลนเครื่องบินและนักบิน กระทบการขยายธุรกิจ เพิ่มความถี่ – เปิดเส้นทางบินใหม่
  • จับตา "Really Cool" กลุ่มพาที สารสิน เริ่ม 2 เส้นทางแรกเช่าเหมาลำ กรุงเทพฯ - โตเกียว และนาโกยา ภายใน พ.ค.นี้

 

กพท.เผย 9 สายการบินน้องใหม่เตรียมเปิดให้บริการภายในปีนี้ หลังไฟเขียวใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว ชี้วิกฤตอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาขาดแคลนเครื่องบินและนักบิน กระทบการขยายธุรกิจ เพิ่มความถี่ – เปิดเส้นทางบินใหม่

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) แก่สายการบินใหม่เตรียมเปิดให้บริการในไทยรวม 9 สายการบิน โดยปัจจุบันสถานะดำเนินการของสายการบินดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) เพื่อให้สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ต่อไป

รายงานข่าวจาก กพท.เผยว่า ภายในปีนี้คาดว่าไทยจะเห็นสายการบินน้องใหม่เปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทราบว่าหลายสายการบินอยู่ระหว่างจัดหาเครื่องบิน และนักบินเพื่อเริ่มดำเนินกิจการ แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินไทยและทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนเครื่องบิน และนักบิน จากการปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุนในช่วงโควิด -19

ขณะที่ปัจจุบันมีการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการสายการบินยังมีเครื่องบินและนักบินกลับมาให้บริการไม่เต็ม 100% อีกทั้งจากดีมานด์การเดินทางที่เพิ่มขึ้น ทำให้สายการบินเร่งเพิ่มคำสั่งซื้อเครื่องบิน ทำให้ผู้ผลิตเครื่องบินมีออเดอร์คำสั่งซื้อเครื่องบินจำนวนมาก และยังไม่สามารถผลิตเครื่องบินได้ทันต่อความต้องการ ส่งผลให้ปัญหาในอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบัน ต้องเผชิญปัญหาเครื่องบินไม่เพียงพอต่อการให้บริการ

“หลายสายการบินน้องใหม่ตอนนี้กำลังเร่งหาเครื่องบินเพื่อมาเปิดให้บริการตามแผน แต่จากปัญหาในอุตสาหกรรมการบินที่กำลังขาดแคลนเครื่องบิน คำสั่งซื้อเครื่องบินจำนวนมาก ก็ทำให้สายการบินน้องใหม่ยังไม่มีเครื่องบินมาเข้าฝูงบิน รวมไปถึงยังมีนักบินไม่เพียงพอด้วย แต่เชื่อว่าจะเริ่มมีสายการบินมาเปิดให้บริการภายในปีนี้”

สำหรับ 9 สายการบินยื่นขอจดทะเบียนใหม่นั้น ประกอบด้วย

1.บริษัท เอเชี่ยน แอร์โรสเปซ เซอร์วิส จำกัด โดยได้รับอนุญาตให้ทำการบินตั้งแต่ 16 ต.ค. 2564 – 15 ต.ค.2569 ประเภทการบินแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท มีกรรมการ 3 คน คือ นายประทีป บุญประสม , นายฮิวเบอร์ท โจเซฟ ทรันเซอร์ และร้อยเอกธรรมนูญ ใจทัน

2.บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 3 พ.ค.2566 – 2 พ.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 32 ล้านบาท มีกรรมการ 4 คน คือ นายเดนนิส อิมมานูเอล เคลเลอร์ , นายไมเคิล เบลนีย์ เดวิดสัน , น.ส.วรกัญญา สิริพิเดช และนายโทมาส บอมบ์การ์ดเนอร์

ทั้งนี้ บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด มีแผนให้บริการเครื่องบินน้ำ โดยใช้เครื่องบิน Cessna C208B

3.บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด (Really Cool) ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 18 ก.ค.2566 – 17 ก.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีกรรมการ 2 คน คือ นายพาที สารสิน และนายมาส ตันหยงมาศ

โดยแผนธุรกิจที่สายการบิน Really Cool เปิดเผยไว้ในก่อนหน้านี้ จะเริ่มให้บริการปี 2567 ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330-300 ลำแรกเข้าประจำการเดือน ม.ค. ส่วนลำที่ 2 เข้าประจำการเดือน มี.ค. และอีก 2 ลำในครึ่งปีหลัง รวมปี 2567 มีเครื่องบินรวม 4 ลำรองรับเส้นทางบินระยะกลาง

สำหรับเส้นทางบินเริ่มที่ 2 เส้นทางแรกจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ โตเกียว (นาริตะ) และนาโกยา เริ่มด้วยบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ในเดือน มี.ค.-พ.ค. 2567 ก่อนจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินประจำตั้งแต่เดือน มิ.ย. หรือ ก.ค.2567 จากนั้นจะเพิ่มเส้นทาง กรุงเทพฯ – ฮอกไกโด ในช่วงไฮซีซันปลายปีหน้า รวมทั้งเตรียมเปิดเส้นทางบินสู่ ฮ่องกง, สิงคโปร์, เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และจอร์เจีย ส่วนต้นปี 2568 จะจัดหาเครื่องบินทางเดินคู่ แอร์บัส A350 และโบอิ้ง B787 เข้าประจำการ เพื่อทำการบินสู่เส้นทางยุโรป

4.บริษัท อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค.2566 – 26 ก.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 โดยมีกรรมการ 1 คน คือ นายกสิณพจน์ รอดโค

5.บริษัท เอ็ม - แลนดาร์ช จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค.2566 – 26 ก.ค.2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 92.7 ล้านบาท มีกรรมการ 3 คน คือ นายธานี ธราภาค , นายธนา ธราภาค และนางทิพวัลย์ แก้วเงิน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัท เอ็ม - แลนดาร์ซ จำกัด มีแผนที่จะนำเครื่องบินขนาดเล็ก 19 ที่นั่ง รุ่น C408 Sky courier มาใช้บินเส้นทาง เบตง-หาดใหญ่, เบตง-ภูเก็ต, เบตง-นราธิวาส

รวมทั้งเคยชนะการประมูลของกองทัพบกหลายโครงการ เช่น การเสนอราคาซื้อเครื่องบินใช้งานทั่วไปขนาดเบา แบบที่ 2 แบบ CESSNA รุ่น Grand Caravan EX ติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน พร้อมชิ้นส่วนซ่อมและบริภัณฑ์ภาคพื้น 2 เครื่อง เป็นการประมูลแบบวิธีเฉพาะเจาะจง เสนอราคา 299.98 ล้านบาท

6.บริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด ปัจจุบันได้รับ AOC แล้ว โดยมีระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 23 ส.ค.2566 – 22 ส.ค.2571 ซึ่งทำคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีกรรมการ 7 คน เช่น นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ , นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด ได้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน Sky ICU (Rotor wings) 2 ลำ สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS

7.บริษัท พัทยา แอร์เวย์ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 28 ส.ค.2566 – 27 ส.ค.2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ โดยเป็นคำขอทำการบินสำหรับการขนส่งเฉพาะสินค้าเท่านั้น มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยมีกรรมการ 2 คน คือ นายทศพร อสุนีย์ และนายณัฏฐน์ บุณยวิชญ์กานนท์

สำหรับนายทศพร เป็นประธานบริหารกลุ่มบริษัทพัทยา โดยดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และมีแผนเริ่มทำการบินในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะให้บริการการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยเน้นกลุ่มลูกค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก และจะขยายไปภูมิภาคอื่นต่อไป

8.บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ส จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 29 ส.ค.2566 – 28 ส.ค.2571 โดยทำคำขอประเภทการบินแบบประจำมีกำหนด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 249 ล้านบาท มีกรรมการ 2 คน คือ นายภักดี มะแอ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาเที่ยวบินพิเศษฮัจย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการอีกคน คือ น.ส.พิมพ์ลภัส ธรรมรัตนางกูร

9.บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ยื่นทำคำขอจดทะเบียน 2 รายการ ได้รับระยะเวลาอนุญาตทำการบิน 31 ส.ค. 2566 – 30 ส.ค. 2571 โดยจะทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ ซึ่งทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มีกรรมการ 8 คน เช่น นายประยุทธ มหากิจศิริ , นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ

สำหรับ บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด มีแผนจะเริ่มทำการบินได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 โดยจะเริ่มทำการบินไปจีนด้วยเครื่องบิน 4 ลำ ในปีแรกจะใช้เครื่องบินแบบ B737-800 NG ส่วนรูปแบบการให้บริการอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้บริการในชั้นธุรกิจ (Business Class) หรือให้บริการเฉพาะชั้นประหยัด (Economy Class)