'สุริยะ' สั่งปรับระบบทางด่วน ลดด่าน - ค่าผ่านทาง ขยายสัมปทาน BEM ชดเชยรายได้

'สุริยะ' สั่งปรับระบบทางด่วน ลดด่าน - ค่าผ่านทาง ขยายสัมปทาน BEM ชดเชยรายได้

“สุริยะ” สั่งการทางฯ - สนข. รื้อโครงข่ายทางด่วนทั้งระบบ ศึกษายุบด่านจ่ายเงินซ้ำซ้อน - ลดค่าผ่านทาง หวังลดภาระประชาชน ลั่นหากเอกชนได้รับผลกระทบสูญเสียรายได้ อาจพิจารณาขยายสัมปทานชดเชย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน และติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2567 โดยระบุว่า ขณะนี้พบว่าประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษต่างๆ ต้องแบกรับภาระค่าผ่านทางในอัตราที่สูง เนื่องจากปัจจุบันมีสัญญาสัมปทานบริหารทางพิเศษจำนวนมาก รวมทั้งยังมีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางหลายจุดในเส้นทางต่อเนื่อง

โดยกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จึงมอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ที่พบว่ามีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางหลายจุด อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ

“ปัญหาตอนนี้ คือประชาชนมีภาระเยอะจากค่าผ่านทางที่มีหลายด่าน โดยเฉพาะเดินทางในระยะทางที่ไกลก็มีค่าผ่านทางสูงสุดถึง 165 บาท กระทรวงฯ ต้องการลดภาระส่วนนี้ให้กับประชาชน จึงมอบให้การทางฯ และ สนข.ไปศึกษาแนวทางร่วมกัน ซึ่งทราบว่าหลายเส้นทางมีสัญญาสัมปทานอยู่ ก็ให้หาทางเจรจากับเอกชนคู่สัญญา โดยมอบหมายให้ศึกษาแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และนำกลับมาเสนอกระทรวงฯ ใหม่”

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ มีนโยบายให้ กทพ.และ สนข.ศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน อาทิ การพิจารณาปิดด่านจัดเก็บค่าผ่านทางที่ซ้ำซ้อนในแต่ละเส้นทาง ลดค่าผ่านทางให้กับประชาชน โดยหากแนวทางดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานของเอกชน ทำให้กระทบต่อรายได้ของเอกชน อาจเจรจาขยายสัมปทานกับเอกชนเพื่อชดเชยรายได้ โดยยืนยันว่าเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินนโยบายนี้ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนที่จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันทางพิเศษที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทพ. มีรวม 7 เส้นทาง ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร แบ่งเป็น การบริหารโดย กทพ.รวม 4 เส้นทาง และการบริหารโดยสัญญาสัมปทาน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) จำนวน 3 เส้นทาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทางพิเศษพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษประจิมรัถยา (ทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)