'พาณิชย์' เผย ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ไตรมาสแรกปี 67 ยอด 2.5 หมื่นราย

'พาณิชย์' เผย ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ไตรมาสแรกปี 67 ยอด 2.5 หมื่นราย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยไตรมาสแรกปี 67 มีบริษัทตั้งใหม่ 25,003 ราย ทุนจดทะเบียน 67,940.55 ล้านบาท  ทุนลดลง 79.99 % เมื่อเทียบไตรมาสแรกปี 66 เหตุจากการควบรวมทุนของกิจการสื่อสาร และธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ส่งให้ทุนจดทะเบียนกว่า 3  แสนล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน มี.ค.2567 มีจำนวน 7,733 ราย ลดลง 15.75% มูลค่าทุนจดทะเบียน 22,146.14 ล้านบาท ลดลง 92.61% และรวมไตรมาสแรกของปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 25,003 ราย ลดลง 4.5% มีทุนจดทะเบียนรวม 67,940.55 ล้านบาท ลดลง 79.99% แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่สูง เมื่อเทียบรายไตรมาสในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2557-2566) โดยเป็นรองเพียงยอดจดทะเบียนไตรมาส 1/2566 ที่มีการจดทะเบียน 26,182 ราย  ทุนจดทะเบียน 339,595.43 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร โดยทั้ง 3 ประเภทธุรกิจคิดเป็น 7.83% , 7.63% และ 4.37% ของการจดทะเบียนรวมทั้งประเทศตามลำดับ

ทั้งนี้ จำนวนทุนจดทะเบียนที่ลดลงในไตรมาสที่ 1/2567 เนื่องจาก ในไตรมาสที่ 1/2566 มีการร่วมทุนของกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 138,208.40 ลบ. และการจดทะเบียนของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกยักษณ์ใหญ่ คือ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งแรกสภาพจากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 124,435.03 ลบ. รวมทุนจดทะเบียนควบรวม 2 ธุรกิจ คือ 262,643.43 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีธุรกิจขนาดใหญ่ทุนจดทะเบียนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท อีก 6 รายรวม 11,080.11 ล้านบาท

\'พาณิชย์\' เผย ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ไตรมาสแรกปี 67 ยอด 2.5 หมื่นราย

หากพิจารณาไม่รวมทุนจดทะเบียนของธุรกิจขนาดใหญ่ข้างต้น ทุนจดทะเบียนของไตรมาส 1/2566 จะอยู่ที่ 25,885 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับทุนจดทะเบียน ไตรมาส 1/2565 ที่มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 25,939.56 ล้านบาท และไตรมาส 1/2567 ที่มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 22,146.14 ล้านบาท

ขณะที่ไตรมาส 1/2567 ธุรกิจเลิกประกอบธุรกิจ จำนวน 2,809 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 11,943.57 ล้านบาท มีการเลิกประกอบธุรกิจลดลง 459 ราย หรือลดลง 14.05% และทุนจดทะเบียนเลิกลดลง 17,949.05 ล้านบาท หรือลดลง 60.05% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566 ธุรกิจเลิกประกอบธุรกิจ จำนวน 3,268 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 29,892.62 ล้านบาท)

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจสะสมแบ่งตามภาคธุรกิจ ไตรมาส 1/2567 เป็นธุรกิจภาคบริการ 14,257 ราย ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,957 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,907 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 1,093 ราย คิดเป็นสัดส่วน 13.73% , 13.37% และ 7.67% ของการจดทะเบียนรวมภาคบริการ ตามลำดับ

 ภาคขายส่ง ขายปลีก 8,288 ราย ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต 643 ราย ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆ
ในร้านค้าทั่วไป 465 ราย และ ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ 347 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.76% , 5.61% และ 4.19% ของการจดทะเบียนรวมภาคขายส่ง/ปลีก ตามลำดับ

 ภาคการผลิต 2,458 ราย ได้แก่ ธุรกิจปลูกพืชอื่นๆ ประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค 135 ราย ธุรกิจผลิตเครื่องหอม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ 115 ราย และ ธุรกิจการติดตั้งเครื่องจักรอุตสาหกรรม
และอุปกรณ์ 78 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5.49% , 4.68% และ 3.17% ของการจดทะเบียนรวมภาคการผลิต ตามลำดับ

โดยประเภทธุรกิจที่มีการเติบโตที่น่าสนใจในไตรมาส 1/2567 เทียบกับไตรมาส 1/2566 ได้แก่   กิจกรรมด้านความบันเทิง อาทิ กิจกรรมดนตรี งานศิลปะ เติบโต 64% จากการขยายตัวของการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิง และกิจกรรมการตลาดออนไลน์ในปัจจุบันที่เน้นความบันเทิง ธุรกิจขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ เติบโต 57.78% จากเฟอร์นิเจอร์ไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ และมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบ เช่น ไม้ หวาย และยางพารา เป็นต้น

ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ เติบโต 47.62% ตามปริมาณการจดทะเบียนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น กิจกรรมสปา เติบโต 35.59% จากไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ต้องการกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ต่างชาติชื่นชอบกิจกรรมสปาและสมุนไพรไทย และธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตและห้องชุด เติบโต 37.75% จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ    ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ ส่งผลให้จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเป็นไปในทิศทางบวก โดยไตรมาส 1/2567 มีการจัดตั้งธุรกิจเป็น 9 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการ (ไตรมาส 1/2566 มีการจัดตั้งธุรกิจเพียง 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการ)

นางอรมน กล่าวว่า  ทั้งนี้ กรมประเมินว่าการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลครึ่งปีแรก 2567 มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางบวก คาดว่าจะมีการจัดตั้งธุรกิจใหม่อยู่ที่ 46,000-50,000 ราย และทั้งปีอยู่ที่  90,000-95,000  รายโดยต้องจับตาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ และนโยบายของรัฐบาลที่ยังรอความชัดเจน บวกกับปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น ในรอบ 17 ปี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงมากขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สถานการณ์การเลือกตั้งของสหรัฐฯ รัสเซีย และอินเดีย อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ที่จะมีผลต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่

 ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 การจดทะเบียนธุรกิจมีจำนวนทั้งสิ้น 1,902,239 ราย ทุนจดทะเบียน 29.83 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 912,297 ราย ทุน 22.10 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น บริษัทจำกัด 709,556 ราย ทุน 15.88 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล  201,283 ราย ทุน 0.48 ล้านล้านบาท และ บริษัทมหาชนจำกัด 1,458 ราย ทุน 5.74 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.78% , 22.06% และ 0.16% ของนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ ตามลำดับ