ชง ครม.เคาะขาดดุลฯงบ 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้าน - ปรับแผนการคลัง รับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต‘

ชง ครม.เคาะขาดดุลฯงบ 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้าน - ปรับแผนการคลัง รับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต‘

“เศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.วันนี้เคาะรื้อกรอบการคลังระยะปานกลาง 67 – 71  หลังขยายขาดดุลงบฯปี 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้านบาทเศษ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ชงเข้า ครม.วันนี้ทันที ก่อนเรียกประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้  ขาดดุลสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

KEY

POINTS

  • ความคืบหน้าในการหาแหล่งเงินทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความชัดเจนขึ้นในส่วนของการใช้งบฯ68 วันนี้ในการประชุม ครม.จะมีการเคาะรื้อกรอบการคลังระยะปานกลาง 67 – 71 หลังขยายขาดดุลงบฯปี 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้านบาทเศษ
  • ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณปี 2568 จะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 8.6 แสนล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลฯสูงจากเดิมที่ตั้งไว้ 7.13 แสนล้านบาท
  • นายกฯเตรียมเรียกประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ สศช. คลัง สำนักงบฯ แบงก์ชาติ ประชุมในสัปดาห์นี้เพื่อเคาะตัวเลขกรอบงบฯ 68 ก่อนเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า  

“เศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.วันนี้เคาะรื้อกรอบการคลังระยะปานกลาง 67 – 71  หลังขยายขาดดุลงบฯปี 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้านบาทเศษ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ชงเข้า ครม.วันนี้ทันที ก่อนเรียกประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้  ขาดดุลสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องของการหาแหล่งเงินมาทำโครงการเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้าน ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณไปหารือกันให้ได้ความชัดเจนก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการฯอีกครั้งในวันที่ 10 เม.ย.ที่จะถึงนี้

ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ว่าเป็นไปได้ 3 รูปแบบคือ การใช้เงินกู้เหมือนเดิมโดยออก พ.ร.บ.กู้เงิน การใช้งบประมาณจากงบประมาณ 2567 โดยการออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ บวกกับการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2568  และสุดท้ายคือการใช้แหล่งเงินแบบผสมระหว่างเงินกู้และเงินงบประมาณ 
ทั้งนี้หากรัฐบาลจะใช้วงเงินงบประมาณ 2568 บางส่วนมาใช้ในโครงการนี้จะต้องปรับการกู้เงินขาดดุลงบประมาณจากเดิมที่ตั้งการขาดดุลงบประมาณไว้ 7.13 แสนล้านบาท

ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกรอบวงเงินงบประมาณ 2568 ที่มีการกำหนดไว้เดิม 3.6 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณ 7.13 แสนล้านบาท นอกจากนั้นจะต้องมีการปรับกรอบวงเงินระยะปานกลางของประเทศในปี 2567 – 2571 ด้วยซึ่งการปรับกรอบดังกล่าวจะต้องเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยก่อนหน้านี้เคยมีการปรับกรอบการเงินระปานกลางไปแล้ว 1 ครั้งในเดือน ธ.ค.2567  

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการหาแหล่งเงินในโครงการนี้  ล่าสุดวานนี้ (1 เม.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง. ของรัฐ ประชุมด่วนที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตามในส่วนของ ธปท.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เดินทางมาประชุมด้วยตัวเองแต่มอบหมายให้นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน มาประชุมแทน  ทั้งนี้การประชุมใช้ระยะเวลาประมาณ 20 นาที 

ขาดดุลงบฯ 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้าน 


ภายหลังการประชุมฯแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าที่ประชุมฯเห็นชอบให้มีการขาดดุลงบประมาณในปี 2568 เพิ่มอีกเป็นวงเงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาทเศษ จากเดิมที่ตั้งงบประมาณขาดดุลฯไว้ 7.13 แสนล้านบาท รวมเป็นการขาดดุลงบประมาณปี 2568 ประมาณ 8.6 แสนล้านบาทเศษ ซึ่งจะเป็นการขาดดุลฯเพื่อรองรับการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยจะขาดดุลงบประมาณสูงระดับนี้แค่เพียงปีงบประมาณเดียว

วิ่งหาแหล่งเงินที่เหลือทำดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนวงเงินที่เหลืออีกประมาณ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะมาจากแหล่งเงินใดบ้าง แต่จะมีจากการโอน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 การใช้งบกลางฯบางส่วน

รวมทั้งยังไม่ตัดเรื่องของการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯออกไปแต่จะใช้การกู้เงินในวงเงินน้อยลง ซึ่งขณะนี้จะต้องมีการหารือกันอีกครั้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภายหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ประกาศใช้ก็จะมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ หากมีการเบิกจ่ายไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือล่าช้ามากรัฐบาลก็จะโอนงบประมาณส่วนนี้กลับมาได้มาก 

ทั้งนี้การปรับกรอบการคลังระยะปานกลางเนื่องจากมีการขาดดุลงบประมาณในปี 2568 เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (2 เม.ย.) ทันที

ส่วนการเรียกประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สศช. และ ธปท.จะมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้วันที่ 9 เม.ย.จะสามารถเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณปี 2568 ที่มีการปรับปรุงใหม่ได้ตามปฏิทินงบประมาณที่กำหนดไว้ 


ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการประชุมในวันนี้มีการปรับกรอบการคลังระยะปานกลางเพื่อให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น และรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการปรับกรอบงบประมาณ 2568 ต้องดูในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของรายรับและรายจ่ายก็ต้องมามีการปรับทั้งในส่วนของงบประมาณ 2568 และปรับกรอบงบประมาณ 2568 ให้มีความสอดคล้องกัน 

ทั้งนี้การจัดทำกรอบการคลังระยะปานกลางกำหนดว่าให้มีการทบทวนและปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งบอกว่าอย่างน้อยปีละ 1ครั้งต้องมีการปรับ แต่หากมีเหตุการณ์ที่สำคัญจำเป็นก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม 

“เราก็ดูว่าการจัดทำงบประมาณ 2568 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำมีการปรับปรุงอะไร มีรายการอะไรที่ต้องไปดูแลภาคเศรษฐกิจให้มากขึ้นก็ต้องมาพิจารณาดูในส่วนนี้ ทั้งนี้ก็มีการปรับกรอบการคลังระยะปานกลางตารายละเอียดต้องรอให้ สศค.ให้รายละเอียดต่อไป”  

เมื่อถามว่าดูแลภาคเศรษฐกิจก็คือการทำงบฯไว้รองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใช่หรือไม่ ปลัดกระทรวงการคลังตอบว่าเราก็ดูทุกอย่าง เพราะกรอบงบฯนี้ทำมาตั้งแต่เกือบปีก่อนก็มีเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราก็ดูตรงนี้ว่ามีความเหมาะสมมากกว่าหรือไม่ ถ้าเราปรับบางรายการให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน  

ปรับการคลังระยะปานกลางรับกระตุ้นเศรษฐกิจ 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าการปรับกรอบงบประมาณปี 2568 และแผนการคลังระยะปานกลาง เป็นการปรับตามกรอบความเหมาะสมของภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากในปี 2567 ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆเริ่มชะลอตัวลง โดย สศช.ก็บอกว่าเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะโตได้แค่ประมาณ 2.7% แต่กรอบการคลังระยะปานกลางนั้นเราทำตั้งแต่ปีก่อนซึ่งสูงกว่านี้ ดังนั้นก็ต้องดูว่าจะมีการรองรับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะต้องมีเม็ดเงินตัวหนึ่งไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้


เมื่อถามว่ากระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้นั้นเป็นดิจิทัลวอลเล็ตใช่หรือไม่ ผ.อ.สศค.กล่าวว่าตอนนี้ไม่สามารถพูดได้ชัดเจนขนาดนั้นเพราะตอนนี้เราพูดกันในเรื่องของภาพรวมเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไปและต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมส่วนจะขาดดุลงบประมาณเท่าไหร่จะต้องเข้า ครม.ก่อน