ลุ้น  รายงาน USTR สหรัฐ ปลดไทยจากบัญชี WL เม.ย.นี้

ลุ้น  รายงาน  USTR สหรัฐ ปลดไทยจากบัญชี WL เม.ย.นี้

จับตา  ยูเอสทีอาร์(USTR) สหรัฐ  ออกรายงาน สถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา เม.ย.นี้ ลุ้นไทยหลุดจากบัญชี WL หลังมีชื่อศูนย์การค้าแห่งหนึ่งของไทยกลับเข้ามาอยู่ในลิสต์ “ตลาดขายสินค้าละเมิด” ของสหรัฐฯ และเจ้าของลิขสิทธิ์สหรัฐฯ เสนอ คงสถานะไทยในบัญชี WL

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) จะเผยแพร่ผลการจัดสถานะของแต่ละประเทศในช่วงปลายเดือนเม.ย.ของทุกปี ซึ่งรวมถึงไทยด้วยนั้น

ในปี 67 กระทรวงพาณิชย์ของไทยคาดหวังจะได้รับการจัดสถานะให้ดีขึ้น จากปี 66 ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL)  ซึ่งอยู่ในกลุ่มนี้มาตั้งแต่ปี 60 หลังจากยูเอสทีอาร์ปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นจากกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) มาอยู่ WL

อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดการณ์กันว่า ไทยอาจยังคงอยู่ในบัญชี WL  ต่อเนื่องอีก 1 ปี แม้ไทยได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในไทยอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากเป็นลำดับจนเป็นที่พอใจของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา การเข้มงวดปราบปรามการละเมิดตามแหล่งผลิต แหล่งค้าทั่วประเทศ รวมถึงตามแนวชายแดน ปราบปรามการละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง ฯลฯ จนสถานการณ์การละเมิดลดน้อยลง

แต่ล่าสุด ในรายงานตลาดที่ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ประจำปี 66 (Review of Notorious Markets for Counterfeiting and Piracy 2023)  ที่ยูเอสทีอาร์เผยแพร่เมื่อเดือนม.ค.67 ซึ่งเปิดเผยรายชื่อตลาดการค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นตลาดทั่วไป และตลาดออนไลน์ กลับพบว่า มีชื่อของศูนย์การค้าแห่งหนึ่งของไทยปรากฏในรายงานนี้ด้วย และเป็นเพียงตลาดแห่งเดียวของไทยที่ติดอยู่ใน Notorious Markets โดยเป็นการกลับเข้ามาอยู่ในลิสต์นี้มาตั้งแต่การรายงานปี 65 จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยไม่มีตลาด หรือย่านการค้าใดๆ ติดอยู่ในลิสต์นี้แล้ว

โดยสาเหตุที่ศูนย์การค้าแห่งนี้กลับเข้ามาอยู่ในลิสต์ดังกล่าว ยูเอสทีอาร์ให้ข้อมูลว่า หลังโควิดคลี่คลาย มีการผ่อนปรนข้อจำกัดในการเดินทาง นักท่องเที่ยวเข้าไทยจำนวนมาก และการขายสินค้าละเมิดกลับมา ซึ่งมีทั้งขายกระเป๋า เสื้อผ้า นาฬิกา รองเท้า ฯลฯ แม้ก่อนโควิด ไทยดำเนินหลายมาตรการ ที่ประสบความสำเร็จ เช่น จัดตั้งศูนย์การบังคับใช้กฎหมายที่ศูนย์การค้านี้ จัดชุดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการละเมิด ศูนย์การค้ายกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่กับผู้ค้าสินค้าละเมิด รณรงค์ไม่ซื้อ ไม่ใช้ ไม่สนับสนุนสินค้าละเมิด และปัจจุบัน ไทยก็ยังคงเข้มงวดปราบปรามการละเมิด แต่ยังคงมีการขายสินค้าละเมิดที่ศูนย์การค้าแห่งนี้

ขณะเดียวกัน สมาพันธ์ทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ไอไอพีเอ) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเจ้าของลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ซอฟต์แวร์ เพลง ฯลฯ ยังคงเสนอให้ยูเอสทีอาร์จัดไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ WL  ในการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าปี 67 ร่วมกับอีก 13 ประเทศ คือ เบลารุส บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย โมรอคโค ไนจีเรีย ปารากวัย เปรู โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุรุกวัย

ส่วนกลุ่มพีดับบลิวแอล เสนอ 9 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา ชิลี จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม้กวิโก รัสเซีย แอฟริกาใต้ และเวียดนาม ดังนั้น ต้องจับตาว่า การเผยแพร่รายงานปี 67 ช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ ไทยจะยังคงอยู่ในกลุ่ม WL  หรือหลุดออกจากการจัดสถานะคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาของยูเอสทีอาร์หรือไม่