เปิดเหตุผล 'ส.อ.ท.' มั่นใจครึ่งปีหลัง ยอดขาย 'รถอีวี' ฟื้น

เปิดเหตุผล 'ส.อ.ท.' มั่นใจครึ่งปีหลัง ยอดขาย 'รถอีวี' ฟื้น

เปิดเหตุผล ทำไม! "ส.อ.ท." ถึงมั่นใจว่าครึ่งปีหลังของปี 2567 ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าจะกลับมาคึกคัก จากยอดผลิตเดือนก.พ. 2567 มีทั้งสิ้น 133,690 คัน ลดลงจากเดือนก.พ. 2566 ที่ 19.28% และลดลงจากเดือนม.ค. 2567 ที่ 5.92%

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้รายงานจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนก.พ. 2567 มีทั้งสิ้น 133,690 คัน ลดลงจากเดือนก.พ. 2566 ที่ 19.28% และลดลงจากเดือนม.ค. 2567 ที่ 5.92% เพราะผลิตเพื่อส่งออกและผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 9.25% และ 32.96% ตามลำดับ 

ทั้งนี้ การผลิตเพื่อส่งออก ลดลงจากการผลิตรถกระบะลดลงเพราะบางบริษัทขาดชิ้นส่วนบางชิ้น ผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงจากการผลิตรถยนต์นั่งลดลงเพราะถูกรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาแบ่งส่วนแบ่ง และจากการผลิตรถกระบะลดลง เพราะยอดขายลดลงจากการเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน 

โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค. - ก.พ. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 275,792 คัน ลดลงจากเดือนม.ค. - ก.พ. 2566 ที่ 15.90%
รถยนต์นั่ง เดือนก.พ. 2567 ผลิตได้ 50,441 คัน ลดลงจากเดือนก.พ.  2566 ที่ 14.56%

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของยอดขายของรถหลัก ๆ คือยอดการปฎิเสธสินเชื่อแม้ว่าความต้องการซื้อยังคงสูงส่งผลให้ยอดขายโดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้สูงมากนัก ยืนยันว่าไม่ใช่ความต้องการที่ลดลงเลย แต่โดนแฎิเสธในเรื่องของการให้สินเชื่อ เพราะหนี้ครัวเรือนสูง 

อย่างไรก็ตาม จากการที่สถาบันทางการเงินหรือกลุ่มที่ปล่อยให้เช่าซื้อรถยนต์ในช่วงหลายปีก่อนที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด ส่งผลให้ผู้ซื้อรถมีรายได้ก็ลดลง ค้างชำระหนี้และกระทบมาเรื่อย ๆ ทั้งหนี้มือถือ หนี้ซื้อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น อีกทั้ง ส่วนมากเป็นกลุ่มที่ซื้อรถยนต์ที่เป็นรถกระบะเพื่อนำไปประกอบธุรกิจ 

"เมื่อเจอวิกฤติโควิดแล้วรัฐบาลประกาศมีมีการล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่าง ๆ กำลังซื้อก็ลดลง นักท่องเที่ยวก็ไม่มา สายการบิน หรือแม้แต่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ดาราต่างตกงานส่งผลให้รายได้ก็ตกลงตั้งแต่ตอนนั้น คนที่ปล่อยสินเชื่อ สถาบันทางการเงิน ธนาคารต่าง ๆ ก็ขาดทุนตาม ๆ กัน" 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีบทความถึงความกังวลว่ายอดการผลิตรถอีวีไทยล้นตลาดนั้น ยืนยันว่าไม่จริงเลย เพราะในไทยก็ยังผลิตได้แค่ 766 คันในเดือนก.พ. 2567 ซึ่ง 2 เดือนนี้ผลิตได้ราว 1,400 คัน ยังผลิตไม่ได้เต็มที่ แต่เชื่อว่าในช่วงกลางปีเป็นต้นไป จะสามารถผลิตได้เยอะ 

ส่วนการลดราคารถอีวีเนื่องจากในจีนลดราคา ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความต้องการในจีนที่ลดลง ถือเป็นข้อดีและเป็นโอกาสที่คนไทยจะได้ซื้อรถในราคาที่ไม่สูงด้วยซ้ำ เพราะหลังจากที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนตามมาตรการอีวี 3.0 ที่เฉลี่ยคันละประมาณ 1.5 แสนบาท ช่วยให้การตัดสินใจซื้อรถอีวีมีมากขึ้น 

"รถที่นำเข้ามาลดราคาส่วนมากก็มาจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ทราบว่าเงินหยวนอ่อนค่าหรือไม่ เพราะถ้าอ่อนค่าลง การส่งออกก็ถูกลง เงินบาทเราอ่อนและแข็งค่าตามเงินหยวน"

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปี 2567 จนมาถึง 2 เดือนที่ผ่านมา จะมีรถยนต์ไฮบริด (HEV) มากขึ้นและราคาถูกลงตามซีซีในราคาระดับ 7-8 แสนบาทต่อคัน ซึ่งส่วนนี้ก็มาแข่งขันกับรถอีวี ถือเป็นกลไกตลาด ซึ่งปีนี้ตามนโยบายรัฐบาลจะเริ่มเห็นยอดการผลิตรถอีวีในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาผลิตแล้ว 1,400 คัน แม้จะยังน้อยอยู่ โดยยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 4-5 พันคัน 

สำหรับกรณีที่รถยนต์มือ 2 ที่ราคาต่ำลง ปัจจัยมาจากการโดนยึดเยอะ และอีกปัจจัยที่ทำให้คนหันมาเปลี่ยนเป็นรถอีวีเพราะสู้ราคาน้ำมันไม่ไหว ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่าคนที่เปลี่ยนมาใช้รถอีวีจะอิงกับการใช้งาน ยิ่งใช้งานเยอะก็จะหันมาใช้รถอีวี เพราะค่าไฟฟ้าที่ชาร์จถูกกว่าราคาน้ำมันที่มีแต่ราคาจะสูงขึ้น 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปี 2567 นี้ ยังคงคาดหวังว่ายอดขายรถอีวีจะดีขึ้นใน 6 เดือนหลัง โดยปัจจัยสำคัญมาจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่จะเริ่มใช้ในเดือนเม.ย. 2567 ส่วนงบปี 2568 ก็จะต้องรีบเร่งในการประกาศให้ทันใช้วันที่ 1 ต.ค. 2567 ซึ่งจะมีการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐออกมา จะทำให้เศรษฐกิจต่าง ๆ ดีขึ้น มีการแก้ไขหนี้ค้างนานที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าจะมีการแก้หนี้เรื้อรัง 

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ได้แก้ไขไปแล้วกว่า 1 แสนราย จะทำให้ค่อย ๆ ดีขึ้น อีกทั้งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบื้ยลงในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. 2567 ซึ่ง ธปท. ก็น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน ถึงตอนนั้นค่าใช้จ่ายในเรื่องของดอกเบี้ยก็จะลดลงประชาชนจะเริ่มมีกำลังซื้อและเริ่มใช้จ่ายได้ตามปกติ ที่ไม่ดีเพราะปีที่แล้วและต้นปีนี้รถยนต์กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีซัพพลายเชนที่ยาวลดลง 

ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์ที่ลดลงเพราะมีรถอีวีเข้าแย่งตลาดประมาณ 8 หมื่นคัน ทำให้ยอดผลิตในประเทศลดลง 8 หมื่นคัน รถกระบะได้รับผลกระทบ 1.2 แสนคัน จากการปฎิเสธสินเชื่อส่งผลให้แค่ 2 รายการนี้รวมกันที่ 2 แสนคัน จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตขายในประเทศ 9 แสนคัน จึงหายไป 2 แสนคัน

อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยคือ การท่องเที่ยวปีนี้จะเติบโตกว่าปีที่แล้ว จากที่ตั้งเป้ามากกว่า 32 ล้านคน อาจจะถึง 35 ล้านคน แต่ยังหวังว่าจีนจะฟื้นได้หรือไม่ เพราะยังมีปัญหาย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ จากสงครามการค้าระหว่างประเทศ ส่วนหุ้นน่าจะดีขึ้น 

"ต้องชมรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์มาตลอด ถึงได้มีการต่ออีวี 3.5 และการดึงดูดนักลงทุน ดังนั้น ปีนี้กับปีหน้าก็ยังนำเข้ารถยนต์มาได้ และรวมทั้งการผลิตรถอีวีในไทยจะเริ่มมากขึ้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เราจะเป็นฮับในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งสันดาปและอีวีเพื่อส่งออกแล้วแต่ว่าประเทศคู้ค้าพร้อมจะรับอะไร"