‘BOI’คลอดมาตรการหนุน ‘คลัสเตอร์ PCB’ ดึงรายใหญ่โลกลงทุนไทยแสนล้าน

‘BOI’คลอดมาตรการหนุน ‘คลัสเตอร์ PCB’  ดึงรายใหญ่โลกลงทุนไทยแสนล้าน

"บีโอไอ" คลอดมาตรการส่งเสริมลงทุนสำหรับแผงวงจรอเล็กทรอนิกส์ 3 มาตรการ ดึงลงทุนคลัสเตอร์ซัพพลายเชน PCB ครั้งใหญ่ตั้งเป้าอีก 10 บริษัทระดับท็อปปักหลักลงทุนไทยหลังลงทุนแล้ว 10 ราย เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานวันนี้ (28 มี.ค.) ได้เห็นชอบให้ปรับปรุง “กิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB)” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล เพื่อรองรับกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากแรงกดดันของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลก

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างอิเล็กทรอนิกส์ โดยเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของ PCB ได้แก่

‘BOI’คลอดมาตรการหนุน ‘คลัสเตอร์ PCB’  ดึงรายใหญ่โลกลงทุนไทยแสนล้าน

1.กิจการสนับสนุนการผลิต PCB ได้แก่ Lamination, Drilling, Plating และ Routing

2.กิจการผลิตวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิต PCB ได้แก่ Copper Clad Laminate (CCL), Flexible CCL (FCCL) และ Prepreg และ

3.กิจการผลิตวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการผลิต PCB เช่น Dry Film, Transfer Film, Backup Board เป็นต้น โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี โดยจำแนกตามความสำคัญของวัตถุดิบ เทคโนโลยี และขนาดการลงทุน

 

  ทั้งนี้ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) เป็นแผงวงจรที่รวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (Chip) เข้าด้วยกัน เพื่อเชื่อมการทำงานของชิ้นส่วนและควบคุมระบบต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทุกชนิด ถือเป็นขั้นตอนการผลิตที่มีความสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมามีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB แล้วประมาณ 40 บริษัท โดยเฉพาะจากประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยในปี 2566 มีมูลค่าลงทุนรวมกันกว่า  1 แสนล้านบาท  โดยคาดว่าหลังจากมีการปรับปรุงมาตรการครั้งนี้แล้วไทยจะดึงดูดการลงทุน PCB ของรายใหญ่ของโลกอีก 10 รายเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งจะสร้างคลัสเตอร์ของ PCB และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วนแรกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทหรือโรงงานละกว่า 1 หมื่นล้านบาท

“การปรับปรุงกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์หรือ PCB ครั้งนี้ มุ่งรองรับกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนครั้งใหญ่ของโลกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเพิ่มเติมการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB ให้ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เพื่อนำไปสู่การสร้างคลัสเตอร์ PCB ให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถเติบโตไปพร้อมกันด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยได้ขึ้นมาเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน หากไทยสามารถช่วงชิงโอกาสในการสร้างซัพพลายเชนของการผลิต PCB ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างครบวงจร ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลกได้ในอนาคต” นายนฤตม์ กล่าว