“หอการค้า”หนุนค่าแรง 400 บาท ช่วยดึงแรงงานเข้าภาคท่องเที่ยว

“หอการค้า”หนุนค่าแรง 400 บาท ช่วยดึงแรงงานเข้าภาคท่องเที่ยว

“หอการค้า” หนุนปรับค่าแรง 400 บาท ครอบคลุม 10 จังหวัดท่องเที่ยว เหตุท่องเที่ยวฟื้นต้องการแรงงาน ชี้ปรับค้าแรงดึงดูดแรงงานจากกลุ่มธุรกิจอื่นให้เข้ามาที่ภาคการท่องเที่ยวได้มากขึ้น เสริมศักยภาพของท่องเที่ยวของไทยให้เติบโต

คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติเห็นชอบการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท โดยนำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว และมีผลตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.2567 เพื่อเป็นของขวัญวันสงกรานต์

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้นำร่องในกลุ่มแรงงานภาคท่องเที่ยวเพราะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยช่วงที่ผ่านมาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ระบาดระหว่างปี 2563-2565 โดยเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวทำให้ต้องดูแลแรงงานกลุ่มนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความเข้าใจรัฐบาลที่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ หากพิจารณาจากพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่องจะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น

แต่ยังมีปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนแรงงานในภาคดังกล่าว โดยเฉพาะกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป หรือที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป  ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ก็จะมีส่วนช่วยดึงดูดให้แรงงานให้กลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป

 

“การขึ้นค่าจ้างครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากกลุ่มธุรกิจอื่นให้เข้ามาที่ภาคการท่องเที่ยวได้มากขึ้น จะตอบโจทย์การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย” นายสนั่น กล่าว

“หอการค้า”หนุนค่าแรง 400 บาท ช่วยดึงแรงงานเข้าภาคท่องเที่ยว

นายวิศิษฎ์ ลิ้มลือชา  รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงอยู่ที่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างของแต่ละจังหวัด และหากจะขึ้นอัตราเท่าไร ซึ่งมติการขึ้นค่าแรงคงต้องดูความเหมาะสมแต่ละจังหวัด โดยต้องมีการพิจารณาถึงองค์ประกอบหลายด้านด้วยทั้งความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง สภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดอยู่ในพื้นคงจะรู้ดีที่สุดว่ามีความสามารถในการปรับขึ้นค่าแรงมากน้อยเพียงใด รวมถึงช่วงนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในขาลง กำลังซื้อก็ลดลง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น และต้นทุนของผู้ประกอบการก็สูงขึ้น 

 

ดังนั้นความสามารถในการชำระหนี้ ผู้ประกอบการหลายราย ก็อยู่ในระหว่างการฟื้นตัวหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ แม้ว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะดีกับฝ่ายแรงงานแต่ก็ต้องดูทางความสามารถขอผู้ประกอบการร่วมด้วย

“การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวต้อง เมื่อดูว่ามีความเหมาะสมก็ปรับขึ้นได้ เพราะคนในพื้นที่จะรู้ข้อมูลดีเป็นที่สุดและคงพิจารณาแล้วว่า ทำให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่รอดได้ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง"นายวิศิษฎ์ กล่าว