ตลาดรถอีวีโตต่อเนื่อง ดันผลประกอบการ NEX กว่า 9.3 พันล้าน

ตลาดรถอีวีโตต่อเนื่อง ดันผลประกอบการ NEX กว่า 9.3 พันล้าน

รถอีวีโตต่อเนื่อง ดันผลประกอบการ NEX มีรายได้กว่า 9.3 พันล้านบาท มั่นใจปี 2567 นโยบายรัฐสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดันเป้าหมายรายได้ 2 หมื่นล้านบาท

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยถึงผลประกอบการประจำปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 725.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 516.89 ล้านบาท หรือ 248% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 208.37 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 9,355.312 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 847.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากปีก่อนที่มีรายได้ จำนวน 6,755.27 ล้านบาท และกำไรขั้นต้น 396.79 ล้านบาท โดยกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจำนวน 451.07 ล้านบาท คิดเป็น 114%

ทั้งนี้รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ จำนวน 8,682 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้ว จำนวน 5,656.75 ล้านบาท โดยมีกำไรขั้นต้น จำนวน 734 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 414.84 ล้านบาท หรือ 130% จากปีก่อนที่ได้ จำนวน 319.37 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จำหน่ายรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2565 จำนวน 604 คัน นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม จำนวน 332.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 200.43 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 152% จากที่ได้ จำนวน 131.71 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทร่วมมีการขายและส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าตลอดทั้งปี จึงทำให้มีรายได้จากการขายสินค้าและกำไรเพิ่มขึ้น

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ที่ 2 หมื่นล้านบาท โดยตั้งยอดขายรถไว้ที่ 5,556 คัน ซึ่งปัจจุบันยังมีคำสั่งซื้อค้างอยู่ 2,757 คัน เป็นรถบัสโดยสารไฟฟ้า เกือบ 1,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 1,000 กว่าคัน คาดว่าจะส่งมอบรถตามออเดอร์ทั้งหมดได้ในปี 2567 นอกจากนี้ยังมีรถกระบะ EV จำนวน 229 คันที่จองในงาน Motor Expo เมื่อเดือน ธ.ค.2566 น่าจะส่งมอบได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 

ในขณะที่โรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ของ NEX มีกำลังการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ถึงปีละประมาณ 9,000 คัน ดังนั้นบริษัทฯ จึงยังมีขีดความสามารถในการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่สูงขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และประเทศชาติในอนาคต

นายคณิสสร์ กล่าวอีกว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถบัสโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ 2 เท่าในกรณีที่ซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ รวมทั้งผลักดันให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนมาใช้รถ EV เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5

ประกอบกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ มาตรการ CBAM ที่เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการส่งออกหันมาใช้รถ EV มากขึ้น ทั้งในการขนส่งสินค้าและรับ-ส่งพนักงาน เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวกระตุ้นยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า จึงเชื่อว่ารายได้ของบริษัทฯ ปีนี้จะสามารถเติบโตไม่ต่ำกว่าเป้าหมาย