10 อันดับร้องเรียนบริการขนส่ง 'แท็กซี่' ครองแชมป์หมื่นเรื่อง

10 อันดับร้องเรียนบริการขนส่ง  'แท็กซี่' ครองแชมป์หมื่นเรื่อง

เปิด 10 อันดับข้อร้องเรียนบริการขนส่งสาธารณะระหว่างเดือน ต.ค. 2566 - ก.พ. 2567 พบ “แท็กซี่” ครองแชมป์ผู้โดยสารแจ้งปรับปรุงบริการสูงสุดกว่า 1 หมื่นเรื่อง ประเด็น “ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร” พุ่งอันดับ 1 รวม 2,291 ครั้ง

กระทรวงคมนาคมภายใต้การกำกับดูแล “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการฯ ขณะนี้มีนโยบายเร่งแก้ไขการให้บริการรถแท็กซี่ให้ประชาชนสามารถใช้บริการที่ดี สะดวก ปลอดภัย และมีราคาที่เหมาะสม พร้อมทั้งหาสาเหตุ ปัญหารถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร โดยมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก แก้ไขปัญหาดังกล่าว

พร้อมทั้งร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ไปดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่ทั้งระบบ รวมถึงการวิจัยในเรื่องอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม สะท้อนต่ออัตราค่าครองชีพในปัจจุบัน และไม่เป็นการรบกวนต่อค่าครองชีพของประชาชน

ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับการรับ เรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร.1584 พบว่าปีงบประมาณ 2567 ระหว่างเดือน ต.ค. 2566 - ก.พ. 2567 มีข้อร้องเรียนจากผู้โดยสารเฉพาะการใช้บริการรถแท็กซี่มีข้อร้องเรียนสูงสุดรวม 10,687 ครั้ง

จำแนกตามข้อหาร้องเรียน 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

  1. ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 2,291 ครั้ง
  2. แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ 1,872 ครั้ง
  3. ขับรถประมาทน่าหวาดเสียว 1,285 ครั้ง
  4. ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร 1,054 ครั้ง
  5. ไม่ส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ตกลงกัน 564 ครั้ง
  6. เรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่ทางราชการกำหนด 503 ครั้ง
  7. พาผู้โดยสารไปเส้นทางที่อ้อมเกินควร 450 ครั้ง
  8. มาตรค่าโดยสารผิดปกติ 438 ครั้ง
  9. แสดงแผ่นป้ายทะเบียนไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง 403 ครั้ง
  10. จอดรถขวางทางจราจร, ขวางป้ายหยุดรถ 335 ครั้ง

ขณะที่ บทลงโทษของแท็กซี่ที่กระทำผิด ทางกรมการขนส่งทางบกเผยข้อมูลว่า ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 การปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 57 จัตวา ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเข้ารับอบรมเสริมความรู้และปลูกจิตสำนึกการให้บริการที่ดีตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง หากมีการกระทำความผิดซ้ำจะพักใช้ใบอนุญาตขับรถตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 6 เดือน

นอกจากนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด และได้รับส่วนแบ่งตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล เมื่อมีการตรวจสอบและดำเนินการเปรียบเทียบปรับหรือคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนผู้ที่แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่งตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล หลังจากหักเป็นเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว