ม.หอการค้าไทยหั่นจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัว 2.6  %

ม.หอการค้าไทยหั่นจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัว 2.6  %

ม.หอการค้าไทยหั่นจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัว 2.6  % จากเดิม 3.2 % จากปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำ  การบริโภค การลงทุน ภาคเอกชนชะลอตัว การเบิกจ่ายงบประมาณต่ำ  ชี้ "ท่องเที่ยว-ส่งออก-บริโภคเอกชน" Key Driver ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  คาดเศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตกว่า 3 %

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า  ศูนย์ฯได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย ในปี 2567 ลงเหลือ 2.6% จากที่เคยประเมินไว้ล่าสุดเมื่อเดือนม.ค..67 ที่ระดับ 3.2%  ซึ่งก็มองใกล้เคียงกับหลายหน่วยงาน มีการปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยลงไปแล้วก่อนหน้านี้ 

ขณะที่การส่งออก จะขยายตัวได้ 2.8% จากเดิมคาดว่า 3% อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ที่ 1% จากเดิม 2% รวมถึงสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพี ที่เพิ่มขึ้นถึง 2% จาก 87.8% เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 89.8%จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.61 ล้านล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ โดยในรายงานฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขปริมาณการค้าโลก จากเดิมที่คาดได้ จะขยายตัว 3.5 % ปรับลดลงเหลือ 3.3 % หรือลดลง 0.2 % โดยมีสาเหตุมาจากการโจมตีเรือสินค้าผ่านทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวจนถึงหดตัว ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนในช่วง  3-4 เดือนที่ผ่านมาเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง   ทั้งนี้ จึงได้ลดตัวเลขคาดการณ์ทั้ง การบริโภคของภาคเอกชนเหลือ 2.8% จากเดิม 3.2% การบริโภคของภาครัฐเหลือเพียง 1.5% จากที่คาดไว้เดิม 2.5% รวมถึงการลงทุนภาครัฐ ที่อาจจะติดลบ 1% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.7%  ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายงบลงทุน ทำได้ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้เดิม

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า  อย่างไรก็ตามไทยยังมีจุดเปลี่ยนที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ 1. ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มจะสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเริ่มเห็นได้ในช่วงไตรมาส 4 ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น ดังนั้นในปี 67คาดว่าจะมีการสต๊อกสินค้ามากขึ้นและมีการลงทุนในภาคการผลิตมากขึ้น

2.นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนกลับมาแล้ว ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวรายเดือนปี 67 เกือบเท่ากับปี 62 ซึ่งเป็นปีที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่สุด ดังนั้นปี 67 ที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 35 ล้านคนจึงมีความเป็นไปได้สูง ยิ่งในช่วงเม.ย.ที่จะมีมหกรรมมหาสงกรานต์ก็น่าจะดึงนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นอีก บวกกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง และธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือนมิ.ย. ทั้งนี้รายได้การท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อคนต่อทริปเพิ่มสูงขึ้น ทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท

3.การส่งออก ซึ่งพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนส.ค.ปี 66 และต่อเนื่องมาถึงต้นปี 67 หากว่าเศรษฐกิจโลกไม่ยุบไม่ย่อก็คาดว่าทั้งปีส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้ 3 %   โดยการส่งออกไทยดีขึ้นเป็นลำดับล่าสุดเดือนม.ค.ขยายตัว 10  % ซึ่งเป็นตัวเลขการส่งออกสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี  ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบพลิกกลับมาขยายตัว  ซึ่งเป็นสัญญาณว่าภาคการผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก กำลังฟื้นตัว

4.การบริโภคภาคเอกชน โดยในปี65-66 การบริโภคภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้จีดีพีไทยขยายตัวได้และมีสัดส่วนใกล้แตะระดับ 60 % จีดีไทยในปี 66 และเมื่อรัฐบาลใช้งบประมาณก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ 

Key Driver ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  คือ ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้น  การส่งออกก็ดีขึ้นเป็นลำดับสะท้อนให้เห็นว่า จากตัวเลขการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น บวกกับการบริโภคภาคเอกชน ที่จะประคับประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย “นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า  โจทย์ของรัฐบาลขณะนี้ คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจปีนี้โตเกิน 3%  ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตได้ 3.1-3.5%  โดยการเตรียมพร้อมจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะโครงการลงทุนภาครัฐได้ทันทีเมื่องบประมาณ ปี 67 บังคับใช้  โดยถ้ารัฐเร่งงบลงทุนตั้งแต่เดือนเม.ย. จะทำให้จีดีพีเพิ่มได้ทันที 0.51% ถ้าลงทุนเดือนพ.ค. จีดีพีจะเพิ่ม 0.45% หากช้าไปเรื่อยๆ ก็จะกระตุ้นจีดีพีโตลดลงเรื่อยๆ ต่อมาคือ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เร่งออกดิจิทัล วอลเล็ต ที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านโยบายการเงิน อย่าง การลดดอกเบี้ย

ส่วนการลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนตัวมองว่า มีโอกาสที่ปีนี้จะลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 2 ครั้ง หรือ 0.25-0.50% หลังจากที่สหรัฐฯลดดอกเบี้ยแล้ว เพื่อพยุงให้เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่เกิดจากการบริโภคที่แท้จริง  ยังขยายตัวได้ไม่ติดลบ เพราะถ้ายังติดลบต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า กำลังซื้อประชาชนอ่อนแรง การลดดอกเบี้ยจะช่วยผ่อนคลายเศรษฐกิจ โดยจะอยู่ในภาวะเซฟโหมด

แต่จุดสำคัญของเศรษฐกิจไทยคือ  การส่งออก การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรสำคัญอยู่ในระดับสูง จะเป็นจุดเปลี่ยนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบรูปตัวยู (U) คือ การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน จากเดิมเป็นรูปตัวเค (K) ที่เฉพาะคนมีรายได้เท่านั้นที่ยังใช้จ่ายอยู่

นอกจากนี้ หากมีมาตรการการคลังผ่านเงินโอน โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากทำเร็วก็ยิ่งมีตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยการใช้งบทุกๆ 100,000 ล้านบาทของเงินโอน จะทำให้จีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.26% ประกอบกับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ผ่านมาตรการจูงใจ อาทิ ฟรีวีซ่าชั่วคราวหรือถาวร การเพิ่มรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเพิ่มรายได้จากการส่งออก ซึ่งทุกปัจจัยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้จีดีพีในปีนี้ขยายตัวได้เกินกว่า 3%