ส่องโอกาสไทยเป็นตลาดรถยนต์ "EV" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่องโอกาสไทยเป็นตลาดรถยนต์ "EV" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สนค. ศึกษาสถานการณ์ EV ชี้ ไทยมีโอกาสเป็นแนวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนโยบายของรัฐและความพร้อมทั้งด้านพื้นที่ยุทธศาสตร์ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรม EV ในไทย

 

Key Point

  • ปี 256 การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Plug-in (BEV และ PHEV) ของทั้งโลก มีมูลค่ารวม 175.60 พันล้านดอลลาร์  
  • ไทยนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Plug-in จากตลาดโลก ในปี 2566 มูลค่ารวม 3,048.33 ล้านดอลลาร์
  • ไทยส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in ของไทยไปตลาดโลก มีมูลค่ารวม 11.23 ล้านดอลลาร์

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ติดตามและศึกษาสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV โดยเทรนด์การใช้รถยนต์ EV จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็นผลสืบเนื่องจากความผันผวนของราคาพลังงานและการตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว

องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) คาดว่า ในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคัน จากยอดขาย 10 ล้านคันในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้น35% โดยจีนเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดของโลกในปี 2022 จำนวน 5.9 ล้านคัน คิดเป็น 58%  ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมของโลก

ขณะที่สถานการณ์การค้ารถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2566 พบว่า การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Plug-in (BEV และ PHEV) ของทั้งโลก มีมูลค่ารวม 175.60 พันล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า29.40%  โดยประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 25.62 พันล้านดอลลาร์ เยอรมนี 22.95 พันล้านดอลลาร์  และเบลเยียม 18.12 พันล้านดอลลาร์  และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in ของทั้งโลก มีมูลค่ารวม 201.49 พันล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 43.83 %

โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ เยอรมนี 54.50 พันล้านดอลลาร์  จีน 38.46 พันล้านดอลลาร์  และเบลเยียม 19.37 พันล้านดอลลาร์

ส่องโอกาสไทยเป็นตลาดรถยนต์ \"EV\" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผอ.สนค.กล่าวว่า  สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้เติบโตต่อเนื่องในทิศทางเดียวกับโลกเช่นกัน โดยไทยนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Plug-in จากตลาดโลก ในปี 2566 มูลค่ารวม 3,048.33 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า  345.28% ซึ่งประเทศที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 2,549.02 ล้านดอลลาร์  เยอรมนี 172.16 ล้านดอลลาร์  และมาเลเซีย 119.06 ล้านดอลลาร์  ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ (BEV, PHEV, HEV) ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากจำนวน 71,450 คัน ในปี 2565  คิดเป็น 20.52 % ของยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด  เป็น 168,425 คัน ในปี 2566  คิดเป็น 41.39 %  ของยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด

โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก  3%  เป็น 18.08%  ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in ของไทยไปตลาดโลก มีมูลค่ารวม 11.23 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 326.78%  โดยไทยส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์มากที่สุด มูลค่า 3.48 ล้านดอลลาร์ และเติบโตสูงถึง  3,177.94%  เมื่อเทียบจากปีก่อน รองลงมา ได้แก่ ลาว 2.29 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 1.63 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้หลายประเทศในโลกได้ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนและผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในมิติการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ การส่งเสริมผู้ประกอบการ และการกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาครัฐได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายใต้นโยบาย 30@30 อาทิ มาตรการเงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมการนำเข้าและการผลิตในประเทศ โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้า รวมถึงส่งเสริมการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

จากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูง จึงอาจทำให้ไทยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุน ประกอบกับมีพื้นที่ยุทธศาสตร์ซึ่งมีความพร้อมทั้งทางด้านคมนาคม แรงงาน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้ไทยมีโอกาสขึ้นเป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้