ผู้แทนการค้าไทยพบทูตฮังการี ปลื้มแรงหนุน FTA ไทย - EU ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์

ผู้แทนการค้าไทยพบทูตฮังการี ปลื้มแรงหนุน FTA ไทย - EU ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์

"นลินี" หารือ ทูตฮังการี หนุนวีซ่าฟรี และ FTA THAI - EU พร้อมยกระดับความร่วมมือในทุกมิติ ผลักดัน Soft Power ไทย ขยายความร่วมมือ ท่องเที่ยว ศึกษา อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยหลังจากการหารือร่วมกับนายชานโดร์ ชีโปช เอกอัคราชทูตฮังการีประจำประเทศไทยว่าทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน ทำสถิติระดับสูงสุดใหม่ที่กว่า 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยินดีที่ในปี 2566 ไทยและฮังการีมีการจัดตั้งสภาหอการค้าฮังการี-ไทย ซึ่งจะสนับสนุนการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ 2 ประเทศ นอกจากนี้ หอการค้าและอุตสาหกรรมฮังการี (HCCI) ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนเพื่อผลักดันการทำธุรกิจของฮังการีในประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย

ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ไทยและฮังการียังมีโอกาสในการขยายความร่วมมืออีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลักดัน Soft Power ไทย อาทิ อาหารไทย ที่เป็นชื่นชอบของชาวฮังการี หรือกีฬามวยไทย ซึ่งท่านทูตฮังการีได้ชื่นชมถึงความน่าสนใจและความเป็นเอกลักษณ์ของกีฬาประเภทนี้ การท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันมีชาวฮังการีเดินทางมาไทย 29,000 คน และมีชาวไทยเดินทางไปฮังการีประมาณ 9,400 คนต่อปี

ซึ่งทั้งสองประเทศมีโอกาสการในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีกมาก การศึกษา ซึ่งฝ่ายฮังการีมีความก้าวหน้า โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตนและท่านทูตยังได้หารือถึงโอกาสในการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยสองประเทศ ตลอดจนความการพัฒนาร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

ผู้แทนการค้าไทยพบทูตฮังการี ปลื้มแรงหนุน FTA ไทย - EU ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์

ดร. นลินี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2567 รัฐบาลฮังการีจะเป็นประธานสภาแห่งสหภาพยุโรป หรือ (Presidency of the Council of the European Union) ตนจึงได้ใช้โอกาสนี้ในการขอรับการสนับสนุนการเจรจา FTA Thai – EU ซึ่งตนและท่านทูตเห็นว่า FTA ฉบับดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยจะเป็นการเพิ่มแต้มต่อสำหรับฮังการีในการส่งสินค้ามายังประเทศไทย

 ในขณะที่จะเป็นโอกาสที่ดีของไทย ทั้งในแง่ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน กับประเทศสมาชิก EU 27 ประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนา ศักยภาพของไทยผ่านการยกระดับมาตรฐานด้านกฎระเบียบภายในประเทศ

นอกจากนี้ ฝ่ายฮังการียังได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนข้อเสนอของไทยในการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่า หรือ วีซ่าฟรี สำหรับประเทศในเชงเก้น เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลฮังการีที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยง