น้ำเมากระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์ถ้วนหน้า?

น้ำเมากระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์ถ้วนหน้า?

รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยน้ำเมา ต้องดูว่าระหว่างการผ่อนปรนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับการมีกติตาควบคุมที่เข้มแข็ง มาตรการฝั่งไหนจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากกว่ากัน

รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวการจับจ่ายใช้สอย และส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ร้านอาหาร ตลอดจนบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ เช่น การลดภาษีนำเข้าไวน์ การลดภาษีสุราชุมชน การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ กรุงเทพ ชลบุรี ภูเก็ต และอ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี  

รวมถึงขยายเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเดิม 10 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 14 ชั่วโมงต่อวัน คาดการณ์ว่า จะมีการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเช่น การยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 0 ตามความตกลงเอฟทีไทย-อียู เป็นต้น

มีคำถามจากฝั่งนักวิชาการว่ามาตรการดังกล่าวกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ และคุ้มค่ากับผลที่ตามมาหรือไม่ โดยในงานเสวนา "กระตุ้นทางเศรษฐกิจกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เหตุผลทางเศรษฐกิจ และมุมมองทางสังคม" จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม และ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (BioThai) วานนี้ (13 มี.ค.67) ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ถ้ามีการลดมาตรการทางการผลิตลง จะมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 45,000 ล้านบาท และมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น มีต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท จึงควรนำผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายไปในเรื่องสุขภาพ ที่สำคัญหากลดภาษีนำเข้า จะทำให้ไวน์ระดับแมสโปรดักชันของโลก สามารถนำเข้ามาขายในประเทศไทยด้วยราคาที่ต่ำลง อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไวน์ไทย

น้ำเมากระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์ถ้วนหน้า?

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การปรับปรุงกฎหมายให้มีการโฆษณา รายใหญ่น่าจะได้ผลเชิงบวกมากกว่า เพราะมีเม็ดเงินที่สามารถทำการตลาดได้หลากหลายมากขึ้น รายย่อยมีโอกาสเพียงได้จับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเองได้มากขึ้น เพราะมีข้อจำกัดด้านเม็ดเงินในการทำตลาด ส่วนการขยายเวลาในการอนุญาตให้ดื่มในเขตท่องเที่ยว แม้ว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวดื่มนานขึ้น แต่มีข้อมูลงานวิจัยระบุว่าช่วง ค.ศ.1970-2019 พบว่า การที่ประชากรบริโภคเบียร์เพิ่มขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลง 

งานวิจัยยังระบุว่า หากมีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เคร่งครัด กลับทำให้เศรษฐกิจดี อย่างเช่น เมื่อปี 2558 ประเทศสิงคโปร์ ออกกฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ลดเวลาจำหน่ายเหลือ 4 ทุ่มครึ่ง ผับบาร์ให้นั่งดื่มถึง 5 ทุ่ม 59 นาที ปี 2566 ได้กำหนดเพิ่มเติมหากร้านไม่ทำตามกฎหมายจะต้องจ่ายค่าปรับ ประมาณ 270,000 บาท ผู้นั่งดื่มเกินเวลาจ่ายค่าปรับเกือบ 30,000 บาท สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และมีกำลังทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่มาตรการของไทยที่ออกมาตอนนี้ ไม่ได้ปลดล็อกเรื่องทุนผูกขาดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการเสนอว่าให้นำมาตรการทางภาษีมาใช้ควบคุม โดยปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างภาษีให้นำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจ่ายไปให้เรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากจะใช้กลไก FTA กับเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องดูที่ดุลการค้าสุทธิด้วย

เนื่องจากตอนนี้ยอดส่งออกเกินดุลแค่เพียงเบียร์เท่านั้น ส่วนสุรา ไวน์ ยังขาดดุล เพราะฉะนั้นจะต้องรอดูว่าระหว่างการผ่อนปรนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับการมีกติตาควบคุมที่เข้มแข็ง มาตรการฝั่งไหนจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจเข้ามาพำนักในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง