'พิมพ์ภัทรา' เร่งไทยผู้นำอีวี คงท็อป10 ยานยนต์ ปลุกเสือตื่นผงาดเวทีโลก

'พิมพ์ภัทรา' เร่งไทยผู้นำอีวี คงท็อป10 ยานยนต์ ปลุกเสือตื่นผงาดเวทีโลก

"พิมพ์ภัทรา" เร่งไทยสู่ผู้นำยานยนต์ไฟฟ้า คงท็อป10 ยานยนต์โลก กระตุ้นเสือตื่นกลับมาผงาด ชี้โอกาสทำอีวีเชิงพาณิชย์ เหตุผู้เล่นยังน้อย

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่...ท็อปเทนโลก” ในงานเสวนา "เดลินิวส์ ทอล์ก 2024" (Dailynews Talk 2024) จัดโดยเดลินิวส์ ว่า ปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและของโลก และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก แต่ก็คงต้องยอมรับว่ามีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบมากมายเช่นกัน อาทิ ภาพสัดส่วนของยานยนต์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เครื่องยนต์สันดาป (ไออีซี) จะหายไปเลยหรือไม่ สุดท้ายแล้วยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะครองโลกหรือไม่ โดยไทยต้องมียุทธศาสตร์ทั้งรุกและรับ ต้องลุยไปข้างหน้าในขณะที่ยังต้องมีความยืดหยุ่นปราดเปรียวพร้อมปรับตัว ก้าวย่างต้องมีจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่ช้าจนตกเวทีตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ทันแต่ก็ไม่เร็วจนหลุดโค้ง 

"การที่ประเทศไทยจะรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ผสมผสานในหลายๆ ด้านทั้งยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ใช้จุดแข็งที่ไทยมีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคเพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของของอีวียานยนต์ไฟฟ้า และยุทธศาสตร์ในเชิงรับ ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถยืนหยัด พัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น และส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภทเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นในตลาดโลกมากนัก ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตของไทยที่ยกระดับการเป็นผู้ผลิตและการทำตลาดในประเทศและการส่งออก"น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEV) ในปี พ.ศ. 2573 หรือที่เรียกว่า แผน 30@30 คือ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 หรือปี ค.ศ. 2030 ผ่านมาตรการสนับสนุนจากรัฐ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า100% ประมาณ 40,000 ล้านบาท และในปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ มาตรการ อีวี3.5 ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย หลังจากมาตรการ อีวี3.0 สำเร็จ

 น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะและจักรยานยนต์เป็นอีวี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์สำหรับอัดประจุไฟฟ้า รวม 154 ฉบับ ตลอดจนการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ แอททริค และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ นอกจากนี้ สถาบันยานยนต์ยังพัฒนาทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

“เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของฐานการผลิตยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาโลกส่งต่อให้คนรุ่นหลัง” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว