'สภาพัฒน์' ชี้ผลกระทบ 2 ค่ายมือถือควบรวม พบปัญหาสัญญาณ - ค่าบริการแพงขึ้น

'สภาพัฒน์' ชี้ผลกระทบ 2 ค่ายมือถือควบรวม พบปัญหาสัญญาณ - ค่าบริการแพงขึ้น

"สภาพัฒน์" จับตาค่ายมือถือหลังควบรวมฯ พบปัญหาคุณภาพสัญญาณ - ราคาแพงขึ้น ยกข้อมูล สคบ.ชี้เป็นประเด็นต้องติดตามและเฝ้าระวัง หลังผู้บริโภคกว่า 80% ให้ข้อมูลสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า หลุดบ่อย ราคาแพคเก็จปรับขึ้นจากเดิม แนะ กสทช.ถอดบทเรียนต่างประเทศ เพิ่มคุณภาพการบริการ

การแถลงข้อมูลภาวะสังคมไตรมาสที่ 4 ปี 2566 และภาพรวมปี 2566 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ (สศช.) มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนของผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม จากกรณีการควบรวมธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดโทรคมนาคม

ทั้งนี้ จากข้อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับพบว่าภายหลังการควบรวมกิจการค่าบริการรายเดือนของโทรศัพท์มือถือปรับตัวเพิ่มขึ้นและบางโปรโมชันยังถูกลดนาทีค่าโทรลง เช่น

  • แพ็กเกจราคา 349 บาท ปรับราคาขึ้นเป็น 399 บาท พร้อมทั้งมีการลดปริมาณและความเร็วอินเทอร์เน็ตลง
  • แพ็กเกจราคา 499 และ 599 บาท ถูกลดนาทีค่าโทรลงจาก 300 นาที เหลือ 250 นาที

อีกทั้งผู้บริโภคยังเริ่มประสบปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณมากขึ้น จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายมือถือทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค' ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่าง81% พบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาโดยเครือข่ายของบริษัทที่มีการควบรวมพบมากที่สุด คือ ปัญหา สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า รองลงมาเป็นปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตหลุดบ่อย เป็นต้น

\'สภาพัฒน์\' ชี้ผลกระทบ 2 ค่ายมือถือควบรวม พบปัญหาสัญญาณ - ค่าบริการแพงขึ้น

โดย 91% ของผู้ได้รับผลกระทบเคยร้องเรียนไปยังคอลเซ็นเตอร์ของเครือข่ายที่ใช้บริการแล้วแต่ยังพบปัญหาอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงาน กสทช.จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการควบรวม เช่น การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% เพื่อควบคุมราคาค่าบริการแต่จากสถานการณ์ข้างต้น

ทั้งนี้ให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้เท่าที่ควร ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรีย ได้กำหนดเงื่อนไขการควบรวมธุรกิจ T-Mobile และ tele.ring ในปี 2006ให้ผู้ควบรวมต้องขายคลื่นความถี่และเสาสัญญาณบางส่วนให้กับผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการรายเล็กมีโครงข่ายที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าบริการไม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้คุณภาพสัญญาณดีขึ้นและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

แนะ กสทช.เพิ่มบทบาทให้ประชาชนได้ประโยชน์

ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม จึงควรมีการทบทวน/เพิ่มเติมแนวทางการกำกับดูแลที่ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น อาทิ การกำหนดเพดาน/ควบคุมราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ยให้เหมาะสม ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่อย่างจริงจัง

เรื่องร้องเรียน สคบ.ลดลง 15.2% 

ทั้งนี้ในภาพรวมพบว่าการรับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการในไตรมาสสี่ ปี 2566 ของสคบ. มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 5,724 เรื่อง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน15.2%

โดยประเด็นด้านฉลากมีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด รองลงมาเป็นด้านขายตรงและตลาดแบบตรง' ด้านโฆษณา และด้านสัญญา ตามลำดับ1 ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับร้องเรียนสูงสุด คือ สินค้าออนไลน์ 2,007 เรื่อง ส่วนใหญ่มาจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากร้านค้า รองลงมาเป็นสินค้ากลุ่มรถยนต์ 495 เรื่อง โดยการร้องเรียนส่วนมากเป็นเรื่องการชำรุด ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว 340 เรื่องจากปัญหาการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน เป็นต้น

\'สภาพัฒน์\' ชี้ผลกระทบ 2 ค่ายมือถือควบรวม พบปัญหาสัญญาณ - ค่าบริการแพงขึ้น

ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 451 เรื่อง ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 14.1% โดยด้านที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดยังคงเป็นด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ 298 เรื่อง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามประเด็นปัญหา พบว่า ส่วนใหญ่มาจากการไม่สามารถยกเลิกบริการได้/ยกเลิกได้แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรม

รองลงมาเป็นมาตรฐานการให้บริการ อาทิ การให้บริการที่ไม่เป็นไปตามโฆษณา การถูกเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการโดยไม่ได้รับความยินยอม/แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เป็นต้น

สำหรับภาพรวมปี 2566 มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 33,757 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 42.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการร้องเรียนของ สคบ.ที่เพิ่มขึ้นกว่า 58.9% โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าและบริการทั่วไป/ผู้ประกอบการ ขณะที่สำนักงาน กสทช.ลดลง 53.6% ในทุกประเภทการให้บริการ นอกจากนี้ จากข้อมูลการร้องเรียน

ในปี 2566 ของสภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่า มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 18,124 เรื่อง โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ สินค้าและบริการทั่วไป 11,278 เรื่อง มูลค่าความเสียหายประมาณ 209 ล้านบาท

โดยเฉพาะปัญหาสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจบัตรคอนเสิร์ต อาทิ การเปลี่ยนแปลงผังคอนเสิร์ตโดยไม่แจ้งล่วงหน้า การสมัครสมาชิกแต่ไม่ได้รับสิทธิตามที่ระบุ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 52.9% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมดในกลุ่มสินค้าและบริการ

รองลงมาเป็นการเงินและธนาคาร 2,483 เรื่อง มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประกันCOVID-19 และแอปเงินกู้ และอันดับสาม คือ อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 953 เรื่อง มูลค่าความเสียหายถึง1.9 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น