‘สภาพัฒน์’แนะเร่ง ‘อัพสกิล-รีสกิล’ หลังพบอุตฯใช้แรงงานไร้ฝีมือสูง 43.6% 

‘สภาพัฒน์’แนะเร่ง ‘อัพสกิล-รีสกิล’  หลังพบอุตฯใช้แรงงานไร้ฝีมือสูง 43.6% 

“สภาพัฒน์” อึ้งแรงงานไร้มือไทยพุ่ง สวนทางนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกระดับ AI หลังตัวเลขแรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรมพุ่งจาก 26.2%  เป็น 43.6% จี้เพิ่มทักษะแรงงาน ควบคู่ปรับโครงสร้างการผลิต เน้นอัพสกิล-รีสกิลแรงงานอย่างเป็นระบบ

KEY

POINTS

  • อัตราการว่างงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันการจ้างงานเท่ากับระดับก่อนโควิดที่การว่างงานต่ำกว่า 1% 
  • รายได้ของแรงงานในภาพรวมเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยเทียบกับปีที่ผ่านมา
  • การใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยพบว่ามีการใช้แรงงานไร้ฝีมือเพิ่มขึ้นจาก 26.2% เป็น 43.6%ภายใน 6 ปี 
  • สภาพัฒน์ชี้ตัวเลขนี้สะท้อนการปรับตัวในภาคการผลิตของไทยยังล่าช้า สวนทางนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย
  • ทำให้การเพิ่มทักษะแรงงาน ควบคู่ปรับโครงสร้างการผลิตมีความจำเป็นมากขึ้นในยุคที่ AI จะมีบทบาทมากขึ้น 

 

“สภาพัฒน์” อึ้งแรงงานไร้มือไทยพุ่ง สวนทางนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกระดับ AI หลังตัวเลขแรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรมพุ่งจาก 26.2%  เป็น 43.6% จี้เพิ่มทักษะแรงงาน ควบคู่ปรับโครงสร้างการผลิต เน้นอัพสกิล-รีสกิลแรงงานอย่างเป็นระบบ

วานนี้ (4 มี.ค.)นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2566 ว่าสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 และภาพรวม ปี 2566 โดยขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น และการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมภาวะการมีงานทำและว่างงานของประเทศไทยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงสถานการณ์โควิด-19  

อัตราว่างงานไทยเหลือไม่ถึง 1%

โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% โดยภาคเกษตรขยายตัว 1%  ส่วนการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2% มีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน รวมทั้งลดลงทุกระดับการศึกษา สำหรับภาพรวมปี 2566 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.68% เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่การว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.98%

ขณะที่ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.6 และ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ที่ลดลง 23.6% และ 6.8% ตามลำดับ ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนอยู่ที่ 14,095 เพิ่มขึ้น 0.9% ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาพรวมอยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลง 0.2%

แรงงานไทยใช้อุตฯไร้ฝีมือพุ่ง 

ทั้งนี้ในประเด็นของแรงงานไทย สศช.ยังคงให้ความสำคัญกับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ซึ่งโครงสร้างการจ้างงานของอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2565 ยังเน้นแรงงานไม่มีฝีมือ มีสัดส่วนถึง 43.6% เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560  สะท้อนปัญหาเรื่องของโครงสร้างการผลิต ของไทยที่ยังไม่สามารถยกระดับการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย และสถานประกอบการจำนวนมากต้องการเพียงแรงงานทักษะพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

‘สภาพัฒน์’แนะเร่ง ‘อัพสกิล-รีสกิล’  หลังพบอุตฯใช้แรงงานไร้ฝีมือสูง 43.6% 

“แรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรมของเราที่มีอยู่มาก เป็นตัวชี้วัดเรื่องของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศไทยที่ยังไม่สำเร็จมากนัก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของเราอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งในส่วนนี้ก็จะกระทบกับการผลิตในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไขทั้งการเพิ่มทักษะแรงงานและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในขั้นตอนการผลิตให้มากขึ้น”นายดนุชา กล่าว

แนะเพิ่มทักษะแรงงานเรียนรู้ AI 

ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. โดยระดับดังกล่าวมีผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ รวมทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยควรมีการอัพสกิล และรีสกิล ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับแรงงานในตลาด ผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนนี้ต้องมีหลักสูตรที่เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะในระยะสั้นอาจเป็นระยะเวลา 3 – 4 เดือนเพื่อให้แรงงานมีทักษะมากขึ้น

แนะขึ้นค่าแรงตามทักษะแรงงาน

สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศภายในเดือน เม.ย.นี้ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าแนวทางในการขึ้นค่าแรงที่เหมาะสมคือการขึ้นค่าแรงตามทักษะวิชาชีพ ควบคู่กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางพื้นที่ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มในจังหวัดนั้นๆซึ่งลักษณะแบบนี้ผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวและสามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตามต้องมีการเน้นในเรื่องของการเพิ่มทักษะแรงงานของไทยอย่างเป็นระบบทั้งการสร้างแรงงานที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการในอนาคตตั้งแต่ในสถานศึกษา ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบที่จะพัฒนาทักษะแรงงานที่ทำงานแล้วให้สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว