เส้นทางสู่ 'ฮับการบิน' ทอท.วาดฝันผู้โดยสาร 200 ล้านคน

เส้นทางสู่ 'ฮับการบิน' ทอท.วาดฝันผู้โดยสาร 200 ล้านคน

เปิดแผนพัฒนา “ฮับการบิน” รัฐบาลตั้งโจทย์ปั้น 1 ใน 20 สนามบินดีที่สุดในโลก ด้าน ทอท.เร่งทบทวนแผนแม่บทขยายขีดความสามารถ วาดฝันประตูการบินสุวรรณภูมิ - ดอนเมือง รับผู้โดยสารรวม 200 ล้านคนต่อปี

KEY

POINTS

  • 'เศรษฐา' ตั้งเป้าดันไทยสู่ศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 
  • สั่งโจทย์ ทอท.ภายใน 5 ปี ปั้น 'สุวรรณภูมิ' ติด 1 ใน 20 สนามบินดีที่สุดในโลก
  • ทอท.เร่งทบทวนแผนแม่บทสุวรรณภูมิ นำร่องประมูลขยายอาคาร มิ.ย.นี้
  • พัฒนา 2 ฮับการบิน 'สุวรรณภูมิ - ดอนเมือง' รวมขีดความสามารถ 200 ล้านคนต่อปี

 

เปิดแผนพัฒนา “ฮับการบิน” รัฐบาลตั้งโจทย์ปั้น 1 ใน 20 สนามบินดีที่สุดในโลก ด้าน ทอท.เร่งทบทวนแผนแม่บทขยายขีดความสามารถ วาดฝันประตูการบินสุวรรณภูมิ - ดอนเมือง รับผู้โดยสารรวม 200 ล้านคนต่อปี

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เดินหน้านโยบาย Aviation Hub ประกาศวิสัยทัศน์ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี วางโจทย์การบ้านสำคัญให้กระทรวงคมนาคม โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พร้อมด้วยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบิน ร่วมมือผลักดันให้เกิดความสะดวกสบายในบริการผู้โดยสาร ตลอดจนดึงดูดการเดินทางและการลงทุนภายในประเทศ

โดย ทอท.เป็นหัวเรือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ประกาศทบทวนแผนแม่บทพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ สู่เป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกันยังเร่งการลงทุนสนามบินดอนเมือง จากปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี ดังนั้นหาก ทอท.สามารถเดินหน้าแผนลงทุนตามเป้าหมาย จะทำให้ 2 ท่าอากาศยานหลักของประเทศ รองรับผู้โดยสารได้รวมสูงถึง 200 ล้านคนต่อปี

“กีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ฉายภาพถึงแผนพัฒนาศูนย์กลางการบิน โดยระบุว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีบนเป้าหมายการผลักดันท่าอากาศยานไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปีนับจากนี้ โจทย์แรก ทอท.ต้องเร่งดำเนินการ คือ พัฒนาบริการผู้โดยสารให้ได้มาตรฐานและรองรับการเดินทางที่ดีที่สุด ซึ่งเบื้องต้นได้หารือร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ 100 คน ให้บริการช่องทางตรวจคนเข้าเมือง

และในส่วนของ ทอท. ได้เพิ่มกำลังบุคลากร 800 คน เพื่ออำนวยความสะดวก และแนะนำบริการ เส้นทางการเดินทางภายในสนามบิน เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่ดีที่สุด เพราะขณะนี้ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีศักยภาพอยู่ที่ 60 ล้านคนต่อปี ดังนั้นต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถผลักดันเป้าหมาย 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกได้

ขณะที่เป้าหมายระยะยาวอีก 5 ปี สู่การเป็น 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ต้องเดินหน้าโครงการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทในการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือนข้างหน้า หรือราว พ.ย.นี้ เบื้องต้นจะมีการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร และทางวิ่ง (รันเวย์) ตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งภายในสนามบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน และคลังสินค้า เป็นต้น

สำหรับแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เป้าหมายเพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 150 ล้านคน แบ่งออกเป็น

อาคารผู้โดยสารหลัก และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

  • รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี
  • สถานะ : เปิดให้บริการ

โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion)

  • พื้นที่ 60,000 ตารางเมตร
  • รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี
  • สถานะ : คาดว่าจะเปิดประมูลในเดือน มิ.ย.นี้ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570

โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion)

  • รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี
  • สถานะ : ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 2568

โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal)

  • รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี
  • สถานะ : ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 2568 - ต้นปี 2569

โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2)

  • รองรับการขนส่งสินค้า
  • สถานะ : ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 2568 - ต้นปี 2569

การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4

  • รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ขณะที่แผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง เป้าหมายเพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 50 ล้านคน แบ่งออกเป็น

โครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมขยายอาคาร 1 และอาคาร 2 เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ

  • รองรับผู้โดยสาร 27 ล้านคนต่อปี

โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ

  • รองรับผู้โดยสาร 23 ล้านคนต่อปี

โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดง

การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับเอกชน

การก่อสร้างอาคารจอดรถรองรับได้ 7,600 คัน