ธ.ก.ส.เล็งจับมือธุรกิจใหญ่ในจีนตั้งบริษัทลูกหนุนสินค้าเกษตรโกอินเตอร์

ธ.ก.ส.เล็งจับมือธุรกิจใหญ่ในจีนตั้งบริษัทลูกหนุนสินค้าเกษตรโกอินเตอร์

ธ.ก.ส. เตรียมจับมือบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ในจีน ร่วมตั้งบริษัทลูกหนุนสินค้าเกษตรโกอินเตอร์ ชงสัดส่วนถือหุ้นที่ 49% เพื่อร่วมบริหาร คาดเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดภายในไตรมาสแรกของปีนี้ หวังให้สินค้าเกษตรมีตลาดกว้างขึ้นและได้ส่วนแบ่งกำไรที่เหมาะสม

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาหาผู้ร่วมทุนเพื่อดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำหน้าที่ในการค้าขายสินค้าเกษตรบนแพลทฟอร์มออนไลน์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีตลาดในการขายสินค้าที่กว้างมากขึ้น จากเดิมที่ธนาคารจับมือกับไปรษณีย์ไทยค้าขายสินค้าเกษตรผ่านแพลทฟอร์มไทยแลนด์โพสมาร์ท ซึ่งเป็นการค้าขายสินค้าเกษตรเพียงภายในประเทศเท่านั้น

เขากล่าวว่า สินค้าเกษตรหลายชนิดของไทยนั้น มีศักยภาพที่จะสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้ แต่ช่องทางการขายนั้น ยังไม่รองรับ ธนาคารจึงต้องเข้าไปช่วยส่งเสริม ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมเจรจากับบริษัทไอที ซึ่งเป็นบริษัทลูกยักษ์ใหญ่ในจีน เพื่อร่วมดำเนินการจัดตั้ง โดยรูปแบบการร่วมทุนที่เราคิดไว้ คือ ธนาคารจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49% และผู้ร่วมทุน 51% เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าไปร่วมบริหารจัดการได้ โดยไม่นับบริษัทร่วมทุนนี้เป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งธนาคาร กำหนดให้ธนาคารสามารถจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อประกอบธุรกิจที่ส่งเสริมสินค้าเกษตรได้ แต่ไม่สามารถเข้าไปค้าขายเองได้ ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้ร่วมทุนกับสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบในการส่งเสริมการค้าขายสินค้าเกษตรโดยต้องการบริษัทร่วมทุนที่มีศักยภาพและเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ

“เมื่อไปดูแนวทาง ถ้าเราถือหุ้นเกินครึ่ง เราจะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น เลยมองว่า การร่วมทุนน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม เดิมทีเรามีบริษัทร่วมทุน แต่เป็นสตาร์ทอัพ แต่ยังไม่เก่ง เราก็มองว่า เรื่องตลาดออนไลน์มียักษ์ใหญ่ แต่ลูกค้าเราเข้าไม่ถึงยักษ์ใหญ่หลายส่วน หรือเข้าถึงก็เจอส่วนแบ่งกำไรน้อย เลยดูบริษัทร่วมทุนที่มาเรื่องแบ่งกำไรที่เหมาะสม ที่สำคัญสัดส่วนหุ้นที่ถือ เราต้องสามารถจัดการเรื่องนโยบายได้ด้วย”

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อเราเจรจากับผู้ร่วมทุนและมีความคืบหน้าในระดับหนึ่งแล้ว ตนจะได้เสนอแนวทางดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งคาดว่า ช่วงไตรมาสแรกนี้ น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

ปัจจุบันสินค้าเกษตรที่นำไปขายผ่านแพลทฟอร์มไทยแลนด์โพสมาร์ทมีอยู่ประมาณ 50 รายการ แต่แยกย่อยไปอีกราว 2 พันรายการ มีร้านค้าหรือเกษตรกรที่เข้ามาร่วมค้าขายประมาณ 200 ร้านค้า หากเราสามารถค้าขายผ่านแพลทฟอร์ออนไลน์ในต่างประเทศได้ ก็เชื่อว่า จะมีปริมาณสินค้าและจำนวนร้านค้าเข้ามาร่วมอีกจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเผยว่า ธ.ก.ส.เตรียมสร้างแพลทฟอร์มค้าขายสินค้าการเกษตร โดยขับเคลื่อนด้วยระบบ Block Chain เพื่อให้การแบ่งผลกำไรระหว่างพ่อค้า กับเกษตรกรที่ผลิตผลผลิต มีความยุติธรรมมากขึ้น โดยประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าการเกษตร ส่งไปขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ผลกำไรที่ได้ส่วนใหญ่อยู่กับพ่อค้าขณะที่ บางครั้งเกษตรกรกลับขาดทุนจากการขายผลผลิต

รูปแบบของโครงการนี้ คือ การสร้างแพลทฟอร์ม เพื่อค้าขายสินค้าการเกษตรของไทย ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยสร้างระบบการแบ่งผลกำไร ( Profit Sharing) อย่างยุติธรรม ระหว่างคนที่เป็นผู้ผลิตสินค้าต้นทาง กับพ่อค้าคนสุดท้ายที่อยู่ปลายทาง ซึ่งหากระบบนี้ประสบความสำเร็จจะปิดประตูขาดทุนของเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตสินค้าต้นทาง เนื่องจากเราสามารถควบคุมการผลิตสินค้าได้ โดยสินค้าการเกษตรแรกที่จะถูกนำเข้ามาทดลองค้าขายบนแพลทฟอร์มนี้ คือ กาแฟ ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก