เรื่องรักระหว่างเรา | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เรื่องรักระหว่างเรา | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เธอจ๋า เธอก็คงรู้ว่าฉันมีใจให้เธอ มีแต่ความปรารถนาดี อยากเห็นเธอเติบโต เหมือนเพื่อนบ้านทางเหนือ ทางใต้ และทางตะวันตก

เพื่อให้สมาชิกในบ้านของเธอ ที่รวมตัวฉันเองและคนที่ฉันรัก ได้อยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้ตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางและมีคุณภาพชีวิตที่แย่เหมือนปัจจุบัน

แต่ความหวังของฉันก็ริบหรี่ลงเรื่อยๆ หลังจากที่เห็นเธอเผชิญกับหลากหลายวิกฤตที่พร่างพรู ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ การเมือง น้ำท่วม ภัยแล้ง Covid รวมถึงเงินเฟ้อและเงินฝืดในปัจจุบัน

หลังวิกฤตต่างๆ การเจริญเติบโตของเธอก็ลดลงเรื่อย ๆ พร้อมกับความสามารถในการแข่งขันของเธอที่ลดลง ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเธอโตแทบต่ำที่สุดในละแวกนี้ ขณะที่รายได้ในสมาชิกครอบครัวเธอก็โตต่ำ

โดยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของรายได้ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 3.04% ต่อปี ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม หรือจีน ที่โตในระดับ 4.2-8.1% ต่อปี และที่น่ากลัวคือ รายได้ต่อหัวตกต่ำมาตั้งแต่หลัง Covid และยังไม่ได้ฟื้นกลับไปอยู่ระดับเดียวกับก่อน Covid เลย 

คำถามคือ อะไรเกิดขึ้นกับเธอ ฉันเองก็ว้าวุ่นใจ ลองหาข่าวต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นเหล่านี้ เผื่อจะลองแกะปัญหาไล่ขึ้นมาถึงต้นตอ จะได้หาวิธีแก้ไข

วันก่อน ฉันได้เจอข่าวที่น่าสนใจ โดยสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์  เขาได้จัดงานเสวนา มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาเล่าถึงปัญหาที่ท่านรับผิดชอบ ฉันขอสรุปให้เธอฟัง 3 ประเด็นใหญ่ โดย 3 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ

กระทรวงแรก กระทรวงแรงงาน โดยสถานการณ์แรงงานปัจจุบัน ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวรวม 4 ล้านคน ผลจากแรงงานไทยจะไม่นิยมทำงานบางประเภท

เช่น งานที่ใช้แรงงาน หรืองานที่มีความลำบาก เช่น แกะปลา แกะกุ้ง ทำให้ไทยต้องจ้างต่างด้าววันละ 400 บาท และส่งเงินกลับบ้านปีละ 1.2 ล้านล้านบาท หรือกว่า 7% GDP

เรื่องรักระหว่างเรา | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

กระทรวงที่สอง กระทรวงพลังงาน โดยปัญหาเร่งด่วน คือการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน เนื่องจากไทยยังต้องอาศัยการนำเข้าน้ำมัน 80% ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯเข้ามาดูแลราคาเพื่อตรึงให้ดีเซล 30 บาทต่อลิตร

ซึ่งทำให้ในตอนนี้กองทุนติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาทแล้ว แต่ทางรัฐบาลก็จะต้องพยายามดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้ได้ลิตรละ 30 บาท ซึ่งอาจทำได้ถึงเดือน มี.ค. แต่หลังจากนั้นหากจำเป็นต้องปรับขึ้นไป 32 บาทต่อลิตร

กระทรวงที่สาม กระทรวงพาณิชย์ โดยปัญหาสำคัญขณะนี้คือเรื่องสินค้านำเข้าจากจีนที่จะทะลักเข้ามา ส่งผลกระทบต่อ SME ไทย และทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีสินค้าจากจีน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก และ กลุ่มที่ 2 คือสินค้าขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ที่ส่งผ่านมาช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย 

ฉันมองว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งสามมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย ปัญหาแรก การพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าแรงที่สูงขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังปี 2012 ที่มีการปรับค่าแรงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่มี Margin น้อย ต้องหันไปหาแรงงานต่างด้าวที่ถูกกว่า ซึ่งในเชิงของเศรษฐศาสตร์ ทางแก้คือต้องนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาแทน ซึ่งจะทำให้การทำงานบางประเภท เช่น แกะปลา แกะกุ้ง ถูกแทนด้วยเครื่องจักร

เรื่องรักระหว่างเรา | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

คำถามคือ ทำไมผู้ประกอบการไทยไม่ทำเช่นนั้น คำตอบคือ แค่ในปัจจุบัน การแข่งขันก็สูงจนแทบไม่มี Margin แล้ว การทุ่มเงินซื้อเครื่องมือเครื่องจักรก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงขาดทุนมากขึ้น สู้จ้างแรงงานต่างด้าวดีกว่า

เรื่องรักระหว่างเรา | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ปัญหาที่สอง คือการพึ่งพิงน้ำมันมาก ซึ่งทำให้ไทยขาดดุลการค้า เกิดมลพิษ และจราจรติดขัด คำถามคือ ทำไมเราไม่คมนาคมขนส่งด้วยระบบราง ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า

คำตอบคือ เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ ทำให้การขนส่งช้า ต้นทุนสูง การเดินทางลำบาก ปิดโอกาสที่คนหรือธุรกิจจากต่างจังหวัดจะเดินทางเข้าเมืองใหญ่ (หรือในทางกลับกัน นักท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่หรือต่างประเทศเดินทางไปเที่ยวในต่างจังหวัด) ได้อย่างสะดวก

ปัญหาที่สาม คือ ปัญหาการทุ่มตลาดจากจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสามารถลดต้นทุนได้ต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการจีนหั่นค่าแรงของธุรกิจเพื่อให้สามารถส่งออกได้

แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการใช้กลยุทธแบบ C&D หรือ copy and development คือลอกเลียนนวัตกรรมระดับโลกและมาทำเลียนแบบด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเป่าผม เครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะ เป็นต้น

ฉันมองว่า ทั้งหมดนี้ เกิดจากนโยบายของรัฐที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะนโยบายการเงินและ นโยบายการคลัง

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวมาเกินกว่าทศวรรษ พิมพ์เงินที่น้อยกว่าเพื่อนบ้าน ทำให้ค่าเงินเราแข็งค่ากว่าสกุลอื่นโดยเปรียบเทียบ ทำให้เงินเฟ้อเราต่ำกว่าเพื่อนบ้าน

เรื่องรักระหว่างเรา | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ทำให้ผู้ประกอบการไทยมี Pricing power ทั้งในสินค้าต่างประเทศและในประเทศต่ำกว่าคู่แข่ง ผู้ประกอบการไทยจึงต้องกดค่าจ้างลูกจ้างให้ยังต่ำ และไม่มี Margin เหลือไปลงทุน ทำ R&D ซื้อเครื่องมือเครื่องจักร มาพัฒนาความสามารถในการผลิตของตนเอง 

ในส่วนนโยบายการคลัง การที่เรายึดมั่นถือมั่นในวินัยการคลัง ไม่ก่อหนี้จนเกินตัว แม้หนี้เหล่านั้นจะเป็นหนี้ที่ทำให้ความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของเราสูงขึ้นในอนาคต

ทำให้เราไม่มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มานาน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม ที่จะสามารถลดการพึ่งพิงน้ำมัน 

เมื่อหลายปีก่อน ฉันเคยได้ทำแบบจำลองทางเศรษฐมิติอย่างง่าย โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างการก่อหนี้สาธารณะกับการเติบโตของรายได้ต่อหัวในช่วงการเติบโตสูงของประเทศเจริญแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่

ฉันพบว่าประเทศพัฒนาแล้วจะมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะนำมาซึ่งการเติบโตของรายได้ต่อหัวกว่า 15-20%  ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา การก่อหนี้ที่ต่ำกว่า ทำให้รายได้ต่อหัวเราเติบโตต่ำด้วยอัตราประมาณ 2-4% เท่านั้น 

ทั้งหมดนี้ คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ส่วนหนึ่งสามารถแก้ได้ด้วยนโยบายการเงินการคลัง แต่ที่น่าเศร้าคือ ทุกฝ่ายต่างมองว่า ธุระไม่ใช่ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้เอง จะทำให้เธอตกต่ำลง ผู้คนอยู่อย่างยากลำบากมากขึ้น และเลือนหายไปจากเวทีโลกในที่สุด

ด้วยรัก จากฉันเอง

*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่