ศุลกากรเร่งปรับระบบไอทีรับปริมาณการค้าพุ่ง

ศุลกากรเร่งปรับระบบไอทีรับปริมาณการค้าพุ่ง

ศุลกากรเร่งปรับระบบไอ รองรับปริมาณการค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมเปิดสถิตินำเข้าสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่เสียภาษี 3 ปีย้อนหลัง ยอดนำเข้ารวมกว่า 144 ล้านหีบห่อ มูลค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านบาท

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรเปิดเผยว่า กรมศุลกากรจะเร่งปรับปรุงระบบไอที เพื่อรองรับการตรวจปล่อยสินค้าที่มีแนวโน้มว่าปริมาณการนำเข้าและส่งออกจะมีมากขึ้น ทั้งในส่วนของเครื่องเอ็กซเรย์สินค้ากว่า 30 ระบบ และ ระบบไอทีหลังบ้าน ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง โดยกรมฯจะเร่งศึกษาและเริ่มลงทุนในปีงบประมาณ 2568 

เขากล่าวว่า ในส่วนของเครื่องเอ็กซเรย์สินค้านั้น ที่ผ่านมา เราได้มีการลงทุนซื้อเครื่องและระบบมาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งพบว่า มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง และเมื่อเครื่องเอ็กซเรย์มีความล้าสมัย ก็จะไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กรมฯจึงมีแนวทางการลงทุนในลักษณะเช่าซื้อ เพื่อให้เครื่องซเรย์มีประสิทธิภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง และทำให้กรมฯมีต้นทุนในการดูแลที่ต่ำกว่า

 

“เครื่องเอ็กซเรย์ที่ดีนั้น จะต้องตรวจสินค้าได้อย่างแม่นยำ ถ้าเรามีเครื่องเอ็กซเรย์ที่อยู่ในสภาพที่รองรับการตรวจปล่อยสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ที่ได้เข้ามาจำนวนมากขึ้นทั้งในช่วงที่ผ่านมาและอนาคต และรวมถึง การตรวจสินค้าต้องห้ามต่างๆ เช่น ยาเสพติดเราก็ต้องปรับปรุงระบบไอทีให้รองรับ”

สำหรับมูลค่าสินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาทที่ได้รับการยกเว้นอากรนั้น เขากล่าวว่า กรมฯมองว่า ยังเป็นราคาที่เหมาะสมสำหรับการยกเว้น โดยเทียบเคียงกับราคาสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรจากประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ดี ในส่วนนโยบายที่จะให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้ามูลค่าดังกล่าวนั้น ทางกรมฯก็จะช่วยหาแนวทางในการจัดเก็บ 

“ในส่วนวิธีการจัดเก็บภาษีนั้น กรมศุลฯจะไปดูเรื่องของระบบว่า ทำอะไรได้บ้าง เบื้องต้น สินค้าที่ผ่านด่านศุลกากรนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องที่จะต้องเปิดทุกพัสดุเพื่อตรวจสอบ เพราะสินค้าที่ส่งมาก็ต้องมีราคาในขนสินค้า และสำแดงรายการติดหน้ากล่องอยู่แล้ว และในสนามบินก็มีเครื่องสแกนเอกซเรย์ ซึ่งช่วยให้มองเห็นทุกอย่างภายใน เพราะปกติต้องตรวจเรื่องของผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ เรื่องการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น เป็นเรื่องของข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เป็นมาตรฐานโลกให้อำนวยความสะดวกการส่งไปรษณีย์ส่วนบุคคลข้ามประเทศ แต่ขณะนี้ วิธีการค้าขายมันเปลี่ยนไป โดยมีแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทำให้สินค้านำเข้าผ่านช่องทางดังกล่าวมีจำนวนมาก

สถิติข้อมูลสินค้าเร่งด่วนนำเข้าที่ได้รับยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มราคาไม่เกิน 1,500 บาท โดยพบว่า หลังการค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา มียอดการนำเข้าสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 3 ปีย้อนหลัง มีปริมาณนำเข้ากว่า 144 ล้านหีบห่อ มูลค่ารวมกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าเร่งด่วนนั้น ได้เข้ามาใน 2 ช่องทาง คือ ผ่านด่านศุลกากร และ ไปรษณีย์ โดยในส่วนการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรนั้น ในปีงบประมาณ 2564 มีปริมาณสินค้า  40.82 ล้านหีบห่อ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 9.8 พันล้านบาท ปีงบ 2565 อยู่ที่ 47.05 ล้านหีบห่อ มูลค่า 1.16 หมื่นล้านบาท และปีงบ 2566 อยู่ที่ 56.83 ล้านหีบห่อ มูลค่า 1.79 หมื่น ล้านบาท 

ทั้งนี้ ในส่วนการนำเข้าผ่านช่องทางไปรษณีย์ ในปีงบ 2564 อยู่ที่ 4.09 ล้านหีบห่อ มูลค่า 1.14 พันล้านบาท ปีงบ 2565 ที่ 2.91 ล้านหีบห่อ มูลค่า 895 ล้านบาท  และปีงบ 2566 อยู่ที่ 2.11 ล้านหีบห่อ มูลค่า676 ล้านบาท 

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนั้น ก็มีการใช้หลักเกณฑ์สำหรับการยกเว้นภาษีนำเข้าเช่นกัน โดยประเทศที่กำหนดเกณฑ์ใกล้เคียงไทย อาทิ กัมพูชา และเมียนมา กำหนดเพดานไม่เกิน 50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,788 บาท) และเวียดนาม กำหนดที่ไม่เกิน 40 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 1,431 บาท) ขณะที่ สิงคโปร์ กำหนดเกณฑ์ที่ 298 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,662 บาท) และบรูไน อยู่ที่ 296 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,590 บาท)

ส่วนข้อมูลของประเทศทั่วโลก กลุ่มที่กำหนดเกณฑ์ต่ำสุด อาทิ อินโดนีเซีย กำหนดที่ 3 เหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 107 บาท อินเดีย 4 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 143 บาท และ จีน  8 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 286 บาท  ขณะที่ประเทศที่กำหนดเกณฑ์สูง เช่น คาซัคสถาน580 เหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 20,751 บาท นิวซีแลนด์ 706 เหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือ25,259 บาท และสหรัฐอเมริกา 800 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ 28,623 บาท ส่วนสหภาพยุโรปกำหนดที่ 174 เหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือ 6,225 บาท และยกเว้นภาษีแวตของสินค้านำเข้าตามเกณฑ์ดังกล่าว เฉพาะสำหรับ 22 ประเทศสมาชิก