‘การบินไทย’ โชว์เงินสด 6.7 หมื่นล้าน เตรียมออกแผนฟื้นฟูปีหน้า

‘การบินไทย’ โชว์เงินสด 6.7 หมื่นล้าน เตรียมออกแผนฟื้นฟูปีหน้า

“การบินไทย” โชว์กระแสเงินสดในมือ 6.7 หมื่นล้านบาท พร้อมยื่นไฟลิ่งกลางปีนี้ หวังหลุดแผนฟื้นฟูกลับซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปี 2568 ยันจัดหาเครื่องบินใหม่ไม่กระทบสภาพคล่อง

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 161,067 ล้านบาท เป็นรายได้จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 79.3% เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ขณะที่กระแสเงินสดในมือ (แคชโฟว์) มีสะสมสูงกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ทำให้ขณะนี้บริษัทฯ มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดที่ยื่นไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปัจจุบันการบินไทยสามารถจ่ายหนี้ในส่วนของหนี้บัตรโดยสารรวม 1.3 หมื่นล้านบาทใกล้แล้วเสร็จ เหลือประมาณ 300 - 400 ล้านบาท ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค.นี้ อีกทั้งในปีนี้จะเริ่มต้นชำระหนี้ครบกำหนด ส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งยืนยันว่ามีความพร้อมในการชำระ 

‘การบินไทย’ โชว์เงินสด 6.7 หมื่นล้าน เตรียมออกแผนฟื้นฟูปีหน้า

“หนี้รวมที่เราต้องชำระมีทั้งหมด 1.2 แสนล้านบาท โดยมีกำหนดเริ่มชำระงวดแรกในปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท และต้องชำระให้ครบใน 12 งวด โดยจากการประเมินฐานะทางการเงินแล้ว มั่นใจว่าการบินไทยจะชำระหนี้ได้ตามแผน เพราะปัจจุบันเราก็สามารถเริ่มชำระได้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู ส่วนการซื้อเครื่องบินก็ไม่กระทบต่อแผนฟื้นฟูแน่นอน”

อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 42,875 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูที่กำหนดว่า EBITDA ต้องมี 2 หมื่นล้านบาท ในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานถึงผลสำเร็จการฟื้นฟู ทำให้มั่นใจว่ากลางปีนี้การบินไทยจะสามารถยื่นไฟลิ่ง และดำเนินการออกหุ้นเพิ่มทุนให้จบในปีนี้ เพื่อกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในปี 2568 

‘การบินไทย’ โชว์เงินสด 6.7 หมื่นล้าน เตรียมออกแผนฟื้นฟูปีหน้า

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า การจัดหาฝูงบินใหม่จำนวน 45 ลำ ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการจ่ายหนี้ของการบินไทย อีกทั้งหากดูจากฐานะการเงินของบริษัทฯ แล้ว เครื่องบิน 45 ลำ สามารถซื้อเงินสดได้ เพราะว่าการจัดหาเครื่องบินไม่ได้จ่ายทันที และเครื่องบินส่วนนี้จะทยอยเข้ามาเริ่มปี 2570 นอกจากนี้การจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีซื้อเงินสด ก็ไม่แปลกเพราะสายการบินตะวันออกกลางก็ซื้อด้วยเงินสด แต่อย่างไรก็ดี คงต้องรอศึกษารูปแบบการจัดหาอย่างเหมาะสมก่อน ซึ่งระหว่างนี้ยังมีเวลา คาดว่าจะได้ความชัดเจนในรูปแบบและแนวทางของการจัดหาเครื่องบินในปี 2568

"การจัดหาเครื่องบินเราไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน และที่ผ่านมาในช่วงโควิดการบินไทยไม่เคยได้รับเงินจากรัฐบาลสักบาทเดียว ครั้งสุดท้ายที่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลคือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว จำนวน 7.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล สายการบินญี่ปุ่นรัฐช่วยเหลือ 2 แสนล้านทำให้ฟื้นได้ แต่การบินไทยเราฟื้นด้วยตัวเอง มาจากความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน"

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย กล่าวว่า การจัดหาเครื่องบินใหม่ยืนยันว่าโปร่งใส ไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน รัฐไม่มีภาระ และไม่ต้องค้ำประกัน ดังนั้นการบินไทยอยากยืนยันกับประชาชนว่า การจัดหาเครื่องบินไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชน และเป็นความต้องการของบริษัทบนพื้นฐานธุรกิจโดยแท้ อีกทั้งการบินไทยยังศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อให้การจัดหาเครื่องบินครั้งนี้เป็นกระบวนการคัดเลือกและเจรจาที่ดีที่สุด 

‘การบินไทย’ โชว์เงินสด 6.7 หมื่นล้าน เตรียมออกแผนฟื้นฟูปีหน้า

สำหรับการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ เป็นการจองสล็อตในการผลิต โดยยังไม่ได้สรุปถึงแนวทางของการชำระว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยยังไม่ได้เลือกวิธีของการจัดหาว่าใช้รูปแบบเช่า, เช่าเพื่อดำเนินการ หรือซื้อด้วยเงินสด ดังนั้นยังมีเวลาที่การบินไทยจะสามารถศึกษา ประเมิน และบริหารสภาพคล่อง แต่ยอมรับว่าวิธีการง่ายที่สุด คือการซื้อด้วยเงินสด 

ส่วนที่มาของการเลือกทำข้อตกลงจัดหาเครื่องบินในตระกูลโบอิ้ง 787 เพราะปัจจุบันการบินไทยมีอากาศยานรุ่นนี้ให้บริการอยู่ในฝูงบินแล้ว อีกทั้งตลาดทั่วโลก ปัจจุบันยังนิยมใช้อากาศยานรุ่นโบอิ้ง 787 และแอร์บัส A350 ซึ่งขณะนี้การบินไทยก็มีแอร์บัส A350 ให้บริการและกำลังจะรับมอบเพิ่ม รวมประจำฝูงบินในปีนี้ 23 ลำ ดังนั้นมองว่าการจัดหาโบอิ้ง 787 มีความเหมาะสม ตลาดทั่วโลกนิยม และยังมีความคุ้มค่า เมื่อคำนวณต้นทุนรวมทั้งค่าบำรุง และอัตราการใช้น้ำมัน 

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปีนี้ จากการฟื้นตัวของการเดินทางทั่วโลก ทำให้การบินไทยมั่นในว่าสิ้นปีนี้แคชโฟว์จะสะสมมากกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันปริมาณผู้โดยสารในปีนี้ คาดว่าจะมีสูงถึง 15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 13 ล้านคน โดยการบินไทยยังคงเดินหน้าเพิ่มความถี่เส้นทางยอดนิยม อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์ และเปิดเส้นทางบินใหม่ในเส้นทางศักยภาพสูง อาทิ ออสโล มิลาน เพิร์ท และโคจิ 

‘การบินไทย’ โชว์เงินสด 6.7 หมื่นล้าน เตรียมออกแผนฟื้นฟูปีหน้า

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวม 238,991 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6% มีหนี้สินรวม 282,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 43,142 ล้านบาท ติดลบลดลง 27,882 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด รวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 67,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,590 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิต (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.9% และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 65.4% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.7% สูงกว่าปี 2565 ที่เฉลี่ยเท่ากับ 67.9% มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 13.76 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52.7% มีปริมาณการผลิตด้านการขนส่งสินค้า (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 40.9% ปริมาณการขนส่งสินค้า (RFTK) สูงกว่าปีก่อน 15.4% อัตราส่วนการขนส่งสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 51.7%