'ท่าเรือท่าเตียน' ยกระดับสู่ Smart Pier เปิดให้บริการ มี.ค.นี้

'ท่าเรือท่าเตียน' ยกระดับสู่ Smart Pier เปิดให้บริการ มี.ค.นี้

“กรมเจ้าท่า” เปิดความคืบหน้าพัฒนา 29 ท่าเรืออัจฉริยะทยอยแล้วเสร็จปีนี้ ขณะที่ล่าสุดเตรียมเปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน” มี.ค.นี้ หนุนเป็นแลนด์มาร์คใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างขาติเช็คอิน

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า เพื่อสนับสนุนการเดินทางและท่องเที่ยวทางน้ำ กรมเจ้าท่าได้เดินหน้าแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือ 29 ท่า เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยกระดับสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Pier โดยผลการดำเนินงานล่าสุดได้ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จ จำนวน 9 ท่า ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า, ท่าสะพานพุทธ, ท่าเรือนนทบุรี, ท่าเรือพายัพ, ท่าบางโพ, ท่าช้าง, ท่าราชินี, ท่าเตียน และท่าสาทร

ขณะเดียวกัน ยังมีท่าเรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง จำนวน 5 ท่า ได้แก่

1. ท่าพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย. 2567

2. ท่าพระราม 5  ผลงาน 45% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค. 2567

3. ท่าปากเกร็ด ผลงาน 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ส.ค. 2567

4. ท่าพระราม 7 ผลงาน 42% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย. 2567

5. ท่าเกียกกาย ผลงาน 24% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค. 2567

อย่างไรก็ดี ในส่วนของท่าเรือท่าเตียน ปัจจุบันมีการปรับปรุงแล้วเสร็จ และเตรียมเปิดให้บริการในเดือน มี.ค.นี้ โดยกรมเจ้าท่าได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือ ท่าเตียน และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร อีกทั้งใช้เป็นแหล่งพักผ่อน และชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมออกแบบท่าเรือให้กลมกลืนกับ อาคารบริเวณใกล้เคียงโดยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า

ซึ่งท่าเรือฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ให้บริการ โดยแบ่งเป็น พื้นที่ลานโล่ง รวม 1,320 ตารางเมตร มีอาคารพักคอย จำนวน  2 หลัง พร้อมทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ  เก้าอี้รองรับสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่จอดรถวีลแชร์และการประชาสัมพันธ์ด้วยระบบภาพและเสียง สำหรับโป๊ะเทียบเรือ มีจำนวน 4 ลูก ประกอบด้วย ท่าเรือข้ามฟาก จำนวน 2 ลูก  และท่าเรือโดยสาร จำนวน 2 ลูก โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 39.047 ล้านบาท

\'ท่าเรือท่าเตียน\' ยกระดับสู่ Smart Pier เปิดให้บริการ มี.ค.นี้

สำหรับท่าเรือท่าเตียนมีความสำคัญตั้งแต่ในอดีต เป็นท่าเรือสำคัญของพระนคร ในฐานะตลาดการค้าขนาดใหญ่ เป็นจุดขนส่งอาหาร ผัก ผลไม้ และเป็นท่าเรือโดยสารอีกด้วย ปัจจุบันความสำคัญท่าเรือท่าเตียน  มีจุดเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย อาทิ พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก

และด้วยตำแหน่งที่ตั้งของท่าเตียนในปัจจุบันมีอยู่ตรงข้ามกับพระปรางค์วัดอรุณฯ จะทำให้เป็นอีกหนึ่งท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็น landmark ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเช็คอิน และถ่ายภาพ มุมฝั่งตรงข้าม ที่เห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สวยงามยามพระอาทิตย์ตก ซึ่งท่าเรือท่าเตียน  มีความสำคัญสำหรับการเดินทางคมนาคมทางน้ำ รองรับเรือต่างๆ ดังนี้ 1. เรือข้ามฝากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี 2. เรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า) 3. เรือทัวร์ และเรือทั่วไป

นายกริชเพชร กล่าวด้วยว่า กรมเจ้าท่ายังมีแผนปรับปรุงท่าเรือเพิ่มเติม ประกอบด้วย ในปี 2568 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล, ท่าเทเวศร์, ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา และในปี 2569 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าราชวงศ์, ท่าวัดเทพากร, ท่าพิบูลสงคราม 2, ท่าวัดเทพนารี, ท่าวัดตึก, ท่ารถไฟ, ท่าพิบูลสงคราม, ท่าสี่พระยา, ท่าวัดเขมา, ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง

\'ท่าเรือท่าเตียน\' ยกระดับสู่ Smart Pier เปิดให้บริการ มี.ค.นี้