‘พาณิชย์’ชง‘คลัง’แก้ปมสินค้าจีน รื้อเกณฑ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

‘พาณิชย์’ชง‘คลัง’แก้ปมสินค้าจีน รื้อเกณฑ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

“พาณิชย์” เร่งแก้ปัญหาสินค้าต่างประเทศตีตลาดไทย เสนอ “คลัง” ทบทวนยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าที่นำเข้าผ่านออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ยันต้องสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้ประกอบการไทย “ปลัดคลัง” ชี้ 2 แนวทาง ตั้งอัตราภาษีแวตสินค้า หรือยกเลิกเกณฑ์ยกเว้นภาษี

Key Point

  • พาณิชย์ แก้ปัญหาสินค้าต่างประเทศเข้ามาตีตลาดไทย
  • เสนอทบทวนมาตรการยกเว้นแวตสินค้าออนไลน์ให้เก็บแวตตั้งแต่บาทแรก
  • เตรียมหารือแพลตฟอร์มออนไลน์ยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพ

ปัญหาสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในไทยส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าในไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาภาคเอกชนได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในประเด็นที่กรมศุลกากรมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับสินค้านำเข้าผ่านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งส่งผลให้สินค้านำเข้ากลุ่มนี้ได้เปรียบสินค้าที่ผลิตในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยจากสินค้าออนไลน์ และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ 

รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และกรณีข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ากรณีดังกล่าวกระทบต่อผู้ประกอบการไทย และจำเป็นต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ มีการรายงานว่าการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการนำเข้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ และบางวันมีการนำเข้านับล้านชิ้น ในขณะที่ที่การนำเข้าผ่านเขตปลอดภาษีอากรยังมีไม่มากนัก

‘พาณิชย์’ชง‘คลัง’แก้ปมสินค้าจีน รื้อเกณฑ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายนภินทร กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเสนอให้กระทรวงการคลังทบทวนทบทวนมาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ประกอบการไทย โดยปรับให้มีการเสียภาษีสินค้าออนไลน์ตั้งแต่บาทแรกเป็นต้นไปเพื่อสร้างความเป็นธรรมและให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี 

ส่วนการใช้ Free Trade Zone มองว่ายังไม่จำเป็นต้องทบทวนนโยบาย และเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone เพราะหากเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกแล้วก็น่าจะแก้ปัญหาได้

“ข้อสรุปของกระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้กับกรมศุลกากรเพื่อทบทวนมาตรการดังกล่าว เพราะสินค้าไทยเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก ดังนั้นสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาขายในประเทศไทยก็น่าจะต้องเสียภาษีในบาทแรกเช่นกัน เพื่อให้ต้นทุนราคาสินค้าไม่แตกต่างกันมากขึ้นและให้สามารถแข่งขันได้” นายนภินทร กล่าว

เล็งหารือแพลตฟอร์มออนไลน์

นายนภินทร กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาแนวทางอื่นอีกหลายแนวทางเพื่อเป็นข้อเสนอให้กับกระทรวงการคลัง เช่น กรณีการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ควรจะมีคุณภาพมาตรฐาน โดยต้องได้รับมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือองค์การอาหารและยา (อย.) แต่ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เป็นบริษัทแม่ 

อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มีบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและมีการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั่นๆ ซึ่งก็คงต้องมีหารือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และแพลตฟอร์มออนไลน์ในประเทศ เพื่อขอความร่วมมือ เพราะกฎหมายไทยไม่สามารถไปบังคับแฟลตฟอร์มต่างประเทศ

ทั้งนี้ปัญหาสินค้าต่างประเทศราคาถูก โดยเฉพาะสินค้าจีนทะลักเข้า กระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ซึ่งทำให้เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2567 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวมาหารือในที่ประชุม 

รวมทั้งได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลทบทวนการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท รวมถึงเสนอให้กระทรวงการคลังได้มีการทบทวนการให้สิทธิประโยชน์บนเขตปลอดอากร และให้หน่วยงานที่ดูแลมาตรฐานสินค้ามีการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าอย่างจริงจัง เช่น มอก. หลังจากที่ไทยขาดดุลการค้าจีนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566

คลังเล็งหารือ2แนวทางปรับภาษีแวต

ก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ภายในสัปดาห์นี้จะประชุมร่วมกันระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการทบทวนการยกเว้นอากรสินค้านำเข้าที่มีการสั่งซื้อและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยกเว้นอากรและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้าที่มีหีบห่อราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันใน 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การพิจารณาอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ 2.การพิจารณาความจำเป็นที่ควรยกเลิกการยกเว้นหรือไม่

สำหรับในการหารือครั้งนี้จะไม่ได้ดูการยกเว้นหรือทบทวนอัตราภาษีอย่างเดียว แต่ดูถึงภาพรวมของผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่ไม่ใช่ไปรษณีย์ การหลบเลี่ยงโดยสำแดงราคาสินค้าให้ต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อตั้งใจเลี่ยงภาษี

ที่มายกเว้นแวตให้สินค้า 1,500 บาท

นอกจากนี้ การกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำสำหรับของที่ได้รับการยกเว้นอากรนั้น เป็นไปตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งเป็นเครื่องมือเปิดตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับภูมิภาคเป็นอย่างดี โดยไทยกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำจะเป็นไปตามที่อธิบดีกรมศุลกากรด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้การกำหนดราคาขั้นต่ำดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงในเวทีโลกว่าระดับราคาแท้จริงควรอยู่ที่เท่าไหร่จึงจะได้ผลดีต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์สเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำจะลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าของเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดความคล่องตัวขึ้น

ส่วนราคาศุลกากรขั้นต่ำที่ไทยกำหนดให้ยกเว้นอากร 1,500 บาท เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2530 ที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาท ทั้งนี้เมื่อยกเว้นราคาขั้นต่ำสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรดังกล่าว ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่นำเข้าตามมูลค่าดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ เพราะอัตราอากรได้รับการยกเว้น จึงไม่มีฐานที่จะนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่มีข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรกสำหรับราคาสินค้าที่ผลิตและขาย

ในขณะที่การกำหนดรวมถึงเขตปลอดอากรนั้น กรมศุลกากรกำหนดเพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิต คนทำมาค้าขายที่ได้รับผลกระทบจากยกเว้นภาษีการสั่งซื้อสินค้า